“พาวเวล” ไม่กังวลบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง ชี้สะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) โดยกล่าวว่า เขาไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

“การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นการสะท้อนถึงข่าวดีเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง” นายพาวเวลกล่าว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 อยู่ที่ระดับ 1.64% เมื่อคืนนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.92% ของช่วงต้นปี 2564 อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเมื่อคืนนี้ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับ 1.76%

นายพาวเวลกล่าวว่า เขาจะรู้สึกกังวลในเรื่องนี้ก็ต่อเมื่อตลาดพันธบัตรมีความผันผวน หรือหากเกิดภาวะตึงตัวด้านการเงินจนอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จากมุมมองของเฟดในขณะนี้พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก และดีดตัวขึ้นสู่ระดับที่เราสามารถยอมรับได้

รายงานระบุว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวลเมื่อคืนนี้ มีความคล้ายคลึงกับที่ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคาร (23 มี.ค.) โดยเขากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก โดยได้แรงหนุนจากการที่สภาคองเกรสและเฟดต่างก็ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การที่ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า เขาคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ แต่คาดว่าแรงกดดันที่มีต่อราคานั้นจะไม่รุนแรง และจะไม่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

ทั้งนี้ แม้ว่าสมาชิกสภาคองเกรสบางรายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่นายพาวเวลกล่าวว่า “มุมมองที่ดีที่สุดของเราในขณะนี้ก็คือ ผลกระทบของมาตรการเหล่านี้ที่จะมีต่อเงินเฟ้อนั้น จะไม่รุนแรง และไม่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน นอกจากนี้ผมยังมองว่า เราอยู่ในโลกที่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ต่ำมากเป็นเวลานานถึง 25 ปี ดังนั้น ผมจึงไม่คิดว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียวซึ่งจะนำไปสู่การพุ่งขึ้นของราคาเพียงชั่วคราวนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะชะงักงัน”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top