ส่งออก ก.พ. พลิกกลับมาหดตัว -2.59% นำเข้าโต 21.99% เกินดุล 7.25 ล้านเหรียญฯ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกไทยเดือน ก.พ. 64 มีมูลค่า 20,219.01 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาหดตัว 2.59% จากเดือน ม.ค.64 ที่ขยายตัว 0.35% ขณะที่ตลาดคาดว่าจะติดลบราว 1.5-2.4% ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกจะขยายตัว 2.87% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ.64 ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ.ย้อนหลัง 5 ปีที่ 20,048.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประทเศ และประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห้นผลชัดเจนและกระจายในวงกว้าง

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,211.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.99% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 7.25 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 64 การส่งออกมีมูลค่า 39,925.58 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ 1.16% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 40,120.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.77% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 195.15 ล้านเหรียญสหรัฐ

สนค. ระบุว่า ภาพรวมในเดือน ก.พ.64 ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียน ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป เอเชียใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แม้ว่าช่วง 2 เดือนแรกของปี 64 การส่งออกยังหดตัว 1.16% แต่คาดว่าในเดือนมี.ค.64 ภาคเศรษฐกิจจริงจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จากฐานที่สูงในเดือน มี.ค.63 จากทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย อาจกดดันการส่งออกได้ ทำให้ภาพรวมในไตรมาส 1/64 อาจหดตัวเล็กน้อย แต่ไม่น่ากังวล

ทั้งนี้ สนค. ยังคงคาดการณ์ตัวเลขส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% โดยมองว่าการส่งออกในไตรมาส 2/64 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากสินค้าหลายรายการมีแนวโน้มส่งออกได้ดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ถุงมือยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ขยายตัวตามราคาน้ำมัน เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกดีขึ้น และมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก

(1) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น

(2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

(3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

(4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ 4%, จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (6.64%) สินค้านิวนอร์มอล (6.81%) อุตสาหกรรมหนัก (3.76%) แฟชั่น (2.36%) เป็นต้น และ จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top