นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวในงานสัมมนา ปลดล็อก”กัญชา-กัญชง”ปลุกเศรษฐกิจ-รวย ว่า การพัฒนากัญชง และกัญชามีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากปลดล็อกออกจากการเป็นยาเสพติด แม้ว่าจะมีความสับสนเกี่ยวกับกฎหมายบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการพัฒนาและสามารถผลักดันให้กัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยได้
ทั้งนี้ ต่างประเทศมองประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตกัญชงและกัญชาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะมีสายพันธ์หลากหลาย และอนาคตจะมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากกัญชงและกัญชามากที่สุด ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายหลักของชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว หรืออยู่อาศัยหลังเกษียณอายุ รวมไปถึงเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง
ขณะที่คาดว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. โดยมั่นใจว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนได้ครบ 65 ล้านโดส หรือคิดเป็นจำนวน 40 ล้านคน ซึ่งจะทำให้สามารถได้เดินหน้ามาตรการพาสปอร์ตวัคซ่าได้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาจำนวนมาก ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อาหารที่มีครบทุกรสชาติ รวมไปถึงสมุนไพรที่มีความหลากหลาย
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผู้ที่สนใจเริ่มทำธุรกิจกัญชากัญชงจะต้องรู้ความต้องการอย่างชัดเจนก่อนว่าจะนำไปทำผลิตภัณฑ์อะไร เพื่อจะได้เลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสม เพราะสายพันธุ์และรูปแบบการปลูกที่ต่างกันก็จะให้ปริมาณสารสกัดที่แตกต่างกันไป
ทางบริษัทมองธุรกิจกัญชากัญชงเป็นแบบ Value Chain ประกอบไปด้วย Farm (ผู้ปลูก/เกษตรกร) ซึ่งทางบริษัทวางแผนจะรับซื้อกัญชาและกัญชงจากผู้ปลูก/เกษตรกร แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- แบบ Indoor ซึ่งจะเป็นระดับ Medical grade เป็นการปลูกที่มีคุณภาพดีที่สุดเพราะได้รับการควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกในทุกด้าน
- แบบ Greenhouse ระดับ Food grade
- แบบ Outdoor ในระดับ Food grade เช่นกัน
จากนั้นจะเป็นส่วนของ Factory Extraction (โรงงานแปรรูปและสกัด) แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- การแปรรูปและสกัดด้วยเอทานอล
- การแปรรูปและสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว
โดยทุกขั้นตอนการสกัดจะได้ผลผลิตอื่น ๆ ออกมาในแต่ละขั้นตอนด้วย เช่น wax ที่สามารถทำไปทำผลิตสินค้าได้
และขั้นตอนสุดท้ายคือ Manufactory (โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์) ซึ่งทางบริษัทเป็นโรงงานด้านยาอยู่แล้ว มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่พร้อมในการผลิต โดยสามารถผลิตกัญชากัญชงได้ตามความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็น ยา สมุนไพรอาหารเสริม อาหาร หรือเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ นายสิทธิชัย ยังมองถึงโอกาสของการเกิดอาชีพพ่อค้าคนกลางในธุรกิจนี้ เพราะพ่อค้าคนกลางจะเป็นผู้ที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและโรงงาน สามารถทำให้การทำงานของหลายภาคส่วนง่ายและรวดเร็วขึ้น
นางอุนารินทร์ กิจไพบูลทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถั่งเฉ้าทองคำ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษากับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชากัญชง ซึ่งพบว่าแม้ถั่งเช่าจะเป็นยาบำรุงสำหรับร่างกาย แต่ถ้าต้องการบำรุงทางสมองและจิตใจจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชา ทางบริษัทจึงเดินหน้าศึกษาเพื่อตอบสนองการบำรุงสุขภาพของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกด้าน
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงจับตามองในเรื่องของความชัดเจนของกฎหมายที่เกี่ยวกับการปลูกพืชกัญชากัญชง เพื่อที่จะได้วางแผนการในการปลูกพืชชนิดดังกล่าวได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด
นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชากัญชง เพราะผู้บริโภคบางส่วนยังไม่ทราบถึงข้อดีของพืชชนิดดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการออกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ขณะที่บริษัทมีจุดแข็งทางด้านสินค้าเครื่องดื่มและขนม ซึ่งผู้บริโภคบางกลุ่มเป็นเด็ก การที่จะนำสารสกัดจากกัญชากัญชงใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือจากผู้ปกครอง ถ้าหากยังไม่ได้รับข้อมูลประโยชน์ของพืชชนิดดังกล่าวอย่างเพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, กัญชง, กัญชา, ถั่งเฉ้าทองคำ, วิโรจน์ วชิรเดชกุล, ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง, สัมมนา, สาธิต ปิตุเตชะ, สิทธิชัย แดงประเสริฐ, อุนารินทร์ กิจไพบูลทวี, โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี