นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล” ในงานสัมมนา พลิกโฉมตลาดทุนไทย ไปสู่ตลาดทุนดิจิทัลว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไปตามเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้การดำเนินงานตลาดทุน ในด้านนโยบายและการกำหนดกลยุทธ์จะต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับให้เป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สำหรับตลาดทุนในช่วงปี 60-64 โดยหากการพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบสำเร็จ จะทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนแห่งที่ 3 ของโลกที่ใช้ดิจิทัลเชื่อมโยงตลาดทุนแบบครบวงจร ต่อจากสวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์
การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานของตลาดทุนที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบเป็นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการพัฒนาแพลทฟอร์มและตัวสินค้าที่เป็นองค์ประกอบของ 3P คือ Payment, Platform และ Product ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญในการผลักดันตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาระบบ Payment ได้มีการพัฒนา เชื่อมโยงระบบ และใช้กันอย่างแพร่หลายมากแล้ว สิ่งต่อไปที่ก.ล.ต.จะต้องดำเนินการเป็นเรื่องของ Platform และ Product
การพัฒนา Platform และ Product ของตลาดทุนที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ จะครอบคลุมการออกหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ การนำเอกสารทั้งหมดเข้าอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกจะเริ่มที่การออกและการเสนอขายหุ้นกู้เอกชนก่อน และต่อไปจะขยายมาสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆของภาครัฐ
“สิ่งที่ ก.ล.ต. จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนากระบวนการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งการออกหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด การนำเอกสารทั้งหมดเข้าอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะเริ่มที่หุ้นกู้ก่อน และการชำระเงิน ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว โดยในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนในวันที่ 30 มี.ค. นี้ จะหยิบยกในเรื่องดังกล่าวหารือ รวมถึงจะต้องเป็นรูปธรรมก่อนการประชุมเอเปกในปี 2565ด้วย”
นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำระบบดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในตลาดทุนจะมีประโยชน์อยู่มาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ หากการพัฒนาระบบยังไม่มีความรัดกุมและมีช่องโหว่ ซึ่งกระทรวงการคลังยังคงเน้นย้ำกับ ก.ล.ต.เสมอมาในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ที่ปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจในการนำมาใช้ ซึ่งในปัจจุบันจะต้องมีการพัฒาระบบตรวจสอบความผิดปกติในกระบวนการต่างๆ ที่อยู่ในระบบดิจิทัลให้ดีมากขึ้น ทำให้มีการแก้ปัญหาและการป้องกันความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งดีกว่าการที่มาพัฒนาระบบป้องกันใหม่ขึ้นภายหลังจากความเสียหายเกิดขึ้น
อีกทั้งการคุ้มครองครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องให้ความสำคัญและใส่ใจมากขึ้น โดยที่ก.ล.ต.จะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้นในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะหากเกิดความเสียหายหรือมีบุคคลอื่นนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ การเรียกร้องความเสียหายอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะก่อนการใช้สิทธิต่างๆ ผู้ที่สมัครใช้สิทธิได้ยินยอมในข้อตกลงไปแล้ว จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ก.ล.ต.จะต้องเพิ่มการให้ความรู้พื้นฐานกับประชาชนมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังต้องการให้ ก.ล.ต.ติดตามและสร้างความเข้าใจ และดูแลอย่างเข้มข้นในเรื่องการลงทุนใน Digital Asset และ Crypto Currency ให้มากขึ้น ซึ่งก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงดำเนินการในเรื่องนี้มาต่อเนื่อง
นายอาคม กล่าวอีกว่า ได้ฝากโจทย์สำคัญ 5 เรื่องให้ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและวางทิศทาง ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาดทุน ได้แก่
- การใช้กลไกเครือข่ายตลาดทุนในการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหาสามารถดำเนินการต่อไปได้
- สร้างระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุนที่เท่าเทียมกันของประชาชน และ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่
- การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนรวมถึงเร่งปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ และการจัดทำกฎเหล็กเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มขึ้นขึ้นในเรื่องสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset) และคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- การสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมเงินของกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) และ 5. ผลักดันให้ตลาดทุนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ ทั้งในมิติของการพัฒนา กำกับดูแล และคุ้มครองผู้ลงทุน
“นอกจาก ก.ล.ต. จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของตลาดทุนแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทย จะเป็นตลาดทุนดิจิทัลที่สมบูรณ์ จึงอยากฝากอีก 2 เรื่อง คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้ดิจิทัลทางการเงิน (Cyber Security) และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องได้รับการให้ความยินยอม”
นายอาคม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)
Tags: Cryptocurrency, ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง, คริปโทเคอร์เรนซี, ตลาดทุน, ตลาดทุนดิจิทัล, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ