นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ CHALOKE.COM กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “เปิดมุมมองกับการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโทฯ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
เนื่องจากคุณสมบัติของคริปโทเคอร์เรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านการกีดกัน การควบคุม ซึ่งไม่ควรไปกำหนดว่าควรจะมีระดับรายได้ หรือความรู้เท่าไหร่ เพราะเมื่อมีการกีดกันใดๆ ก็ตามท้ายที่สุดจะกลายเป็นเกมส์แมวกับหนู เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้ และหลากหลายวิธี ส่งผลทำให้เป็นการปิดช่องทางการเข้าถึง exchange ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
ทั้งนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของฐานะผู้ลงทุน จะไม่สามารถทำให้เกิดผลป้องกันนักลงทุนที่อาจจะไม่มีความรู้ มีประสบการณ์น้อยไม่ให้ถูกหลอกลวงได้ เพราะว่าท้ายที่สุดก็จะมีคนที่พาเขาไปในทางอื่น รวมถึงยังส่งกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยโดยตรงด้วย ซึ่งประเทศไทยเองก็มี exchange ที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. เพื่อให้นักลงทุนมือใหม่ได้เข้าไปซื้อขายได้ค่อนข้างปลอดภัยในมุมมองของรัฐ แต่ต่อไปนักลงทุนเหล่านี้ก็จะไม่สามารถอยู่ในระบบได้ เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ ตลาด TFEX ตลาด AFEX ที่ตอบสนองเฉพาะผู้ลงทุนบางกลุ่ม ทำให้ผลประโยชน์ของเศรษฐกิจภาพใหญ่หายไป
ส่วนเรื่องของ knowledge test นั้น ไม่เห็นด้วยกับการสอบ หรือการทดสอบ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถคัดกรองคนได้ แต่เห็นด้วยว่าผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้ โดย ก.ล.ต.ควรจะมีความพยายามส่งเสริมความรู้ให้ผู้ลงทุนให้มากที่สุด
นายพิริยะ กล่าวว่า บทบาทของผู้ควบคุมในตลาดคริปโทฯ อาจจะไม่มีที่ให้อยู่ แต่อาจจะทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือพี่เลี้ยง แทนที่จะห้ามหรือ บังคับ เนื่องจากคริปโทฯ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ โดยหน้าที่ของผู้กำกับอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้วางแผน ให้ความรู้ ประสานงาน รักษาความเรียบร้อยในระบบ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างปลอดภัยที่สุด
นายกวิน พงษ์พันธ์เดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) มองว่า ก.ล.ต.ไม่ควรมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนจากรายได้ เพราะหลายคนอาจจะเริ่มต้นจากศูนย์ และมีการหาความรู้ ก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันคนที่มีเงินทุนหนาอยู่แล้วแต่ไม่เข้าใจการลงทุนในตลาดนี้ก็มีเช่นกัน ทำให้ระบุชัดเจนไม่ได้ว่าใครที่จะเหมาะสมกับตลาดแบบนี้ อีกทั้งเรื่องของ knowledge test ปัจจุบันเชื่อว่าการทำให้คนทำข้อสอบ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ 100% เพราะส่วนใหญ่ใช้วิธีลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
“ในแง่ของการเงิน ผมไม่เห็นด้วยที่จะไปกำหนดคุณสมบัติตรงนี้ เพราะเชื่อว่าคนที่ไม่ได้มีเงินเยอะก็สามารถมีความรู้ได้ ซึ่งหากวัตถุประสงค์ของก.ล.ต. คือการคุ้มครองผู้ลงทุน อาจจะไปแก้ที่การวางโครงสร้างอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงความรู้เรื่องพวกนี้ได้ ขณะที่การทำข้อสอบ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ หรือมีความรู้จริงหรือไม่”
นายกวิน กล่าว
นอกจากนี้ การจะดูว่าคนหนึ่งคนมีเงินเดือนละเท่าไหร่ก็ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะมีการกู้หนี้ยืมสินมา ทำให้ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกว่าแหล่งที่มาของเงินมาจากไหนบ้าง แล้วจะตรวจสอบอย่างไร ในขณะที่หากมีลูกค้าเข้ามาสมัครค่อนข้างมากก็จะเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก ประกอบกับหากผู้ลงทุนไม่ผ่านเกณฑ์ตรงนี้แล้วไปใช้ช่องทางอื่นที่ไม่ถูกกำกับดูแล ก็จะเป็นความท้าทาย เนื่องจากผู้ลงทุนก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากหน่วยใดเลย และไม่สามารถปรึกษา หรือร้องเรียนได้ จึงเป็นบทสรุปว่าการบังคับใช้กฎหมายอาจจะเป็นเรื่องยาก และยังส่งผลให้เงินไหลออกด้วย
ขณะที่เรื่องของความเป็นธรรมก็สำคัญ หากมีการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวจริง จะมีคนจำนวน 99% ที่เข้าไม่ถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ตลาดหดตัวลงทันที หรืออาจจะหนีไปลงทุนในกระดานต่างประเทศแทน จึงมองเป็นความเสี่ยงตรงที่นักลงทุนก็จะย้ายไปซื้อขายใน exchange ต่างประเทศ และ exchange ในไทยก็จะลำบาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่สำคัญของการออกเกณฑ์การคุ้มครองผู้ลงทุน คือ การให้ความรู้ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดร่วมกันในอุตสาหกรรม เพื่อออกคอนเทนท์พื้นฐาน และอัพเดทอย่างต่อเนื่อง บนฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงง่าย แต่อาจจะไม่ต้องถึงขั้นไปออกข้อสอบ โดยเชื่อว่าหากมีการให้ความรู้จะสามารถลดข้อผิดพลาดลงได้
ด้านนายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ผู้บริหารสูงสุด BLOCKCHAIN REVIEW กล่าวว่า หลังจากมีเฮียริ่งออกมาก็มีการถกเถียงกันอย่างมากในส่วนของคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ลงทุน ซึ่งตัวเองก็ไม่ผ่านเช่นกัน แต่พอได้ทำความเข้าใจก็พบว่าเฮียริ่งนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายย่อย และในฐานะนักลงทุนส่วนตัวไม่ได้กระทบอะไรเลย เนื่องจากเป็นตลาด Free Market ซึ่งในความเป็นจริงนักลงทุนในคริปโทฯ ก็ต้องการไปเล่นในตลาดโลกอยู่แล้วเพื่อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Product) ที่หลากหลาย
ฉะนั้นเกณฑ์นี้จึงไม่มีผลกับรายย่อยที่เล่นในตลาดนี้อยู่แล้ว แต่จะมีผลต่อนักลงทุนรายใหม่ที่ยังมีความกลัวการเข้ามาในตลาดนี้ เพราะนักลงทุนที่อยู่ในตลาดคริปโทฯ มานาน จะเรียนรู้ได้ว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดก็จะโอนเหรียญไปไว้ในกระเป๋าของตัวเองได้ แต่ผู้ลงทุนที่ไม่มีความรู้ที่อยากจะปกป้องตัวเอง มองว่าความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการเก็บรักษาเหรียญ และการโอนเหรียญคริปโทฯ ซึ่งทาง exchange ควรจะต้องแจ้งกับลูกค้า หรือมีเอกสารประกอบในการทำธุรกรรมการโอนเหรียญ
สำหรับการทดสอบความรู้ผู้ลงทุน ส่วนตัวต้องการให้มีบททดสอบความรู้ในระดับที่ยากไปเลย เนื่องด้วยมีคนที่เข้ามาในตลาดนี้มีความรู้น้อยมาก แต่พอไปมองในบททดสอบจริงๆ ก็มีหลากหลายความคิด เช่น อาจจะมีการลอกข้อสอบกันก็ได้ เป็นต้น
“โดยสรุปแล้วการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโท ในแง่ของการเงิน ผมไม่เห็นด้วย แต่ความรู้ ผมค่อนข้างเห็นด้วย โดยอาจจะทำบททดสอบไปในลักษณะที่ยากนิดนึง เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์ ความรู้จากบททดสอบนี้ และอาจจะต้องมีไกด์บุ๊คของ exchange”
นายพีรพัฒน์ กล่าว
นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ ผู้ช่วยคณะบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า อยากจะให้ผู้ออกกฎเกณฑ์ พิจารณาทั้งสองด้าน ว่าหากจะมีเกณฑ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเกณฑ์สถานะทางการเงิน หรือความรู้ ตรงนี้คุ้มค่าแค่ไหน แฟร์แค่ไหน สำหรับใคร
สำหรับคำชี้แนะในเรื่องของบทบาทหน้าที่ของก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันก.ล.ต.เองก็มีบทบาทในหลายส่วน ทั้งเป็นผู้มีบทบาทในด้านการโปรโมท และคุ้มครองผู้ลงทุน แต่ก็จะมีอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้อง เช่นในต่างประเทศที่มีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินโดยเฉพาะ ข้อดีคือมีภาระหน้าที่ มีอำนาจในการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกรูปแบบ ขณะที่ก.ล.ต.มีการกำกับดูแลในเรื่องของคริปโทฯ เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องด้วยอำนาจจำกัด จึงอยากแนะนำว่าอาจจะมีองค์กรใหม่ขึ้นมา เพื่อให้สามารถคุ้มครองได้ในภาพกว้าง และควรจะมีจิตวิญญาณ หรือใช้มุมมองจากผู้ลงทุนเป็นหลักในการคุ้มครอง มากกว่ามุมมองผู้กำกับดูแล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)
Tags: bitcoin, BLOCKCHAIN REVIEW, CHALOKE.COM, Cryptocurrency, ก.ล.ต., กวิน พงษ์พันธ์เดชา, คริปโตเคอร์เรนซี, คริปโทเคอร์เรนซี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตลาดหุ้น, บิตคอยน์, บิทคอยน์, บิทาซซ่า, พิริยะ สัมพันธารักษ์, พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว, ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ, สัมมนาออนไลน์, สินทรัพย์ดิจิทัล