In Focus: ตามติดความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคโควิด-19 เมื่อจีนเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้วเพราะไวรัสร้ายได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยในขณะนั้นประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับการระบาดรอบแรก ขณะที่ประเทศแถบยุโรปและทวีปอเมริกาก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว แม้จะยังไม่มากนักในตอนนั้น แต่ก็อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

เมื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงนั้นได้เริ่มมีข่าวว่า บริษัทยาทั่วโลกต่างก็เร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และท้ายที่สุดความพยายามก็ประสบความสำเร็จภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เมื่อผลการวิจัยบ่งชี้ให้เห็นว่า วัคซีนที่เร่งพัฒนาบางตัวทดลองแล้วได้ผลดี และได้เริ่มมีการอนุมัติให้ใช้งานจริงนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

การแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ของโลกมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับโรคระบาดครั้งก่อนๆ โดยข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า นับจนถึงวันนี้ มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วเกือบ 470 ล้านโดสทั่วโลกใน 135 ประเทศ หรือประมาณ 3% ของประชากรทั้งโลก

 

สหรัฐฉีดวัคซีนนำโด่ง แต่อิสราเอลครอบคลุมประชากรมากที่สุด

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า สหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลกนั้น มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยฉีดไปแล้วกว่า 128 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรราว 19.7%

ส่วนจีนตามมาเป็นอันดับสอง โดยฉีดไปแล้วกว่า 74 ล้านโดส หรือประมาณ 2.7% ของประชากรทั้งประเทศ ตามมาด้วยอินเดียซึ่งฉีดไปแล้ว 50 ล้านโดส หรือประมาณ 1.8% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี อิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมมากที่สุด โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ ourworldindata.org เปิดเผยว่า อิสราเอลฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้ว 9.7 ล้านโดส แต่ครอบคลุมประชากรมากถึง 59.9% ซึ่งมากที่สุดในโลก ทิ้งห่างอันดับสองอย่างสหราชอาณาจักร ซึ่งฉีดวัคซีนไปประมาณ 30.2 ล้านโดส แต่ครอบคลุมประชากร 41.2%

ส่วนอันดับสามเป็นของชิลี ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้ว 8.7 ล้านโดส แต่ครอบคลุมประชากรถึง 30% และอันดับสี่ได้แก่บาห์เรน ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนไปเพียงหลัก 6 แสนโดสปลายๆ แต่ก็ครอบคลุมประชากรมากถึง 25.2% เพราะบาห์เรนเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรราว 1.7 ล้านคนเท่านั้น

 

ส่องความคืบหน้าประเทศเพื่อนบ้าน ไทยอยู่ตรงไหนของตาราง

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยกันแล้ว พบว่าอินโดนีเซียมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากที่สุด โดยข้อมูลจาก ourworldindata.org ระบุว่า อินโดนีเซียฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วกว่า 8.2 ล้านโดส ตามมาด้วยสิงคโปร์ซึ่งฉีดไปเกือบๆ 8 แสนโดส และมาเลเซียซึ่งฉีดไปประมาณ 4.5 แสนโดส

สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 มี.ค.ระบุว่า ไทยฉีดวัคซีนโควิดไปประมาณ 53,000 โดส ตามหลังกัมพูชาซึ่งฉีดไปแล้วประมาณ 170,000 โดส แต่ไทยสามารถนำหน้าเวียดนามซึ่งฉีดไปประมาณ 36,000 โดส

อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุดในอาเซียนและยังมากสุดในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยแม้จะฉีดไปเป็นปริมาณโดสที่น้อยกว่าอินโดนีเซียถึง 10 เท่า แต่ก็ครอบคลุมประชากรเป็นสัดส่วนถึง 9.4% ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรหลักสองร้อยล้านคนนั้นฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเพียงแค่ 2.1%

ส่วนอันดับสามในเอเชียนั้นเป็นของมาเลเซียซึ่งฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 1.3% ตามมาด้วยกัมพูชาที่ 1%

สำหรับประเทศไทยนั้นฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรไม่ถึง 0.1% ของทั้งประเทศ ตามหลังฟิลิปปินส์ซึ่งครอบคลุมประชากร 0.3%

 

บางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าแผน เสี่ยงทำโควิดระบาดไม่หยุด

หลายๆ ประเทศเริ่มฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่า ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกจะยังคงต้องเผชิญกับโรคนี้ต่อไป และยังต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดไปอีกหลายปี

ขณะที่สหรัฐและประเทศเล็กๆ ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนโควิดได้คืบหน้าตามแผน และน่าจะครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ได้ภายในช่วงปลายฤดูร้อนปีนี้ แต่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก เช่น ยุโรป (บางประเทศ), เอเชีย และแอฟริกา ดูเหมือนจะยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการฉีดวัคซีน

รายงานจาก Economist Intelligence Unit ระบุว่า อุปสรรคหลักๆ ที่ทำให้โครงการฉีดวัคซีนล่าช้านั้นมีหลายอย่างประกอบกัน โดยหลักๆ ก็คือความต้องการใช้วัคซีนที่มีมากกว่าจำนวนวัคซีนที่สามารถผลิตได้ในขณะนี้ ซึ่งหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศร่ำรวยได้สั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าในจำนวนที่มากกว่าที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ขณะที่ต้นทุนในการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชากรหมู่มากนั้นก็นับว่าเป็นอุปสรรคสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย และทำให้เกิดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะไวรัสโควิดนั้นระบาดไปทั่วโดยไม่สนว่าประเทศใดจะรวยหรือจน

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า บางประเทศที่มีอิทธิพล เช่น รัสเซียและจีน กำลังใช้วัคซีนที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตเป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อสร้างอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาด้วย

สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้น รายงานดังกล่าวประเมินว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียจะฉีดวัคซีนโควิดครอบคลุมถึงประชากรส่วนใหญ่ได้เร็วกว่าแอฟริกาเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ เพราะประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีรายได้ปานกลางและบางประเทศมีรายได้สูง เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาซึ่งยากจน

หลายๆ ประเทศในเอเชียเพิ่งเริ่มโครงการฉีดวัคซีนไปเมื่อไม่นานมานี้และบางประเทศยังไม่ได้เริ่มเลย ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับเพิ่งเริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งช้ากว่าประเทศร่ำรวยรายอื่นๆ อย่างมาก

สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศแถบเอเชียดำเนินการฉีดวัคซีนโควิดล่าช้านั้นเป็นเพราะความต้องการที่จะระมัดระวังไว้ก่อน และการที่หลายๆ ประเทศในเอเชียควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างอยู่หมัด จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเร่งรีบที่จะฉีดวัคซีน แต่ควรจะรอดูผลลัพธ์จากการฉีดในประเทศอื่นๆ ที่เผชิญการแพร่ระบาดหนักกว่า เช่นที่เคยปรากฏมาแล้วกับเหตุการณ์ที่หลายๆ ประเทศในยุโรปได้สั่งระงับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเพราะพบผลข้างเคียง

 

แล้วเมื่อใดทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนทั่วถึง

Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า ประเทศเศรษฐกิจกลุ่มพัฒนาแล้วจะฉีดวัคซีนโควิดครอบคลุมประชากรทั้งประเทศได้ภายในกลางปีหน้า ส่วนประเทศรายได้ปานกลางจะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ภายในปลายปีหน้า หรือไม่ก็ต้นปี 2566 แต่สำหรับกลุ่มประเทศยากจนแล้ว อาจจะต้องรอไปจนถึงปี 2567

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกอาจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วกว่าที่คาด โดยในปัจจุบัน วัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชากรทั่วไปได้นั้นมีอยู่ 7 ตัว ขณะเดียวกันก็มีวัคซีนอีก 6 ตัวที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองใช้ในวงจำกัดแล้ว

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากเดอะนิวยอร์กไทมส์ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อยู่ในระหว่างการวิจัยมากถึง 79 ตัว และวิจัยถึงขั้นสุดท้ายแล้ว 23 ตัว ซึ่งก็หมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ได้จริงกว่าหลายสิบตัว และเมื่อมีบริษัทรายใหม่ๆ เข้ามาผลิตวัคซีนโควิดมากขึ้นแล้ว อัตราการฉีดวัคซีนก็จะเร็วขึ้นด้วย และทั่วโลกก็อาจจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในอีกไม่นานเกินรอ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top