พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามเรื่องการนำรัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฎิญาณตน ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564
สำหรับในการประชุมวันนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ยังทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย และแผนปฎิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะที่ 1 ปี 64-70 และร่างแผนปฎิบัติการด้านการสื่อสารแห่งชาติ สนับสนุนกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงทบทวนหลักการเพื่อขอยกเลิกการเปิดรับข้อเสนอโครงการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูโควิด-19 วงเงิน 400 ล้านบาท และแต่งตั้งที่ปรึกษาในคณะกรรมการเพิ่มเติม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ โครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งวันนี้เดินหน้าไปสู่ 5G ที่ผ่านมารัฐบาลวางโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐทั่วประเทศ บางพื้นที่ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะบางพื้นที่ใช้ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และวันนี้ได้ออกกฎหมายกิจการอวกาศ เป็นเรื่องของการใช้ดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจด้านนี้และเตรียมความพร้อมปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์ เพื่อสนับสนุนนโยบายเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานทุกภาคส่วน นำมาสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และดิจิทัลอาเซียนเต็มรูปแบบตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ วันนี้รัฐบาลออกหลายมาตรการจำเป็นต้องมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกมิติ แก้ปัญหาได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการพัฒนาประเทศในทุกมิติทั้ง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง สุขภาพและการศึกษา มุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดดีอีเอส ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาสนับสนุน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลักๆ ได้แก่ เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นโครงการนำร่องที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 โดยเป็นโครงการที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อยุคดิจิทัล หรือจะส่งผลกระทบในวงกว้าง และโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี)
ในส่วนเกณฑ์การคัดเลือกเพิ่มเติม ได้แก่ เป็นความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินการร่วมกัน พื้นที่นำร่องจะเป็นต้นแบบการนำร่อง 5G ในมิติต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเกิดการนำไปขยายต่อ ทำซ้ำ ซ้ำเสริม และต่อยอด โดยจะเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จาก 5G ที่เป็นรูปธรรม โดยการดำเนินงานของโครงการต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี และสามารถส่งต่อประโยชน์ให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าในเชิงบูรณาการต่อไป เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นไปตามระเบียบหรือเกณฑ์ราคากลางที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์ เพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G มีผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายจำนวนน้อยราย สามารถยื่นรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามสมควร โดยการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารกองทุนดีอี
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะที่ 1 (65 – 70) แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยเป้าหมายการพัฒนาระยะแรก (ภายในปี 65) จะมีโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่มีการเชื่อมต่อและเข้าถึงในทุกสถานที่และสามารถเชื่อมต่อได้ด้วยความเชื่อมั่นและปลอดภัย ส่วนเป้าหมายการพัฒนาระยะที่สอง (66 – 70) ประเทศไทย จะมีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน เพื่อเริ่มเดินหน้าได้เป็นลำดับต้นๆ เน้นการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)
Tags: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, การสื่อสาร, ดีอีเอส, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย, อิทธิพล คุณปลื้ม, เทคโนโลยีดิจิทัล