โบรกฯ แจงหุ้นได้-เสียประโยชน์เกณฑ์แก้เกมฟรีโฟลตต่ำ เชื่อกระทบไม่มากแต่แนะทำดัชนีใหม่แทน

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) เรื่องการปรับเกณฑ์การคำนวณดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.-2 เม.ย.64 เพื่อแก้ไขปัญหาหุ้นฟรีโฟลตต่ำ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

เนื่องจาก ตลท.ได้สื่อสารมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทั้งตามแนวทางปฏิบัติจะแบ่งการบังคับใช้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกของการปรับน้ำหนักขึ้น-ลงจะเริ่มวันที่ 1 ก.ค.64 และช่วงที่ 2 จะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.65 โดยทางฝ่ายวิจัยได้เทียบกับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมองว่าผลกระทบจะกินเวลาไม่เกิน 1 วัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องบางฝ่ายเห็นว่า ตลท.ควรจัดทำดัชนีใหม่ขึ้นมาตามเกณฑ์ใหม่ของการคำนวณ ไม่ควรนำมาใช้กับดัชนีเดิม แต่ ตลท.ต้องการจะปรับการคำนวณกับทุกดัชนีฯ

ทั้งนี้ เกณฑ์ใหม่ปรับวิธีการคำนวณที่จะมีผลต่อดัชนีฯ โดยจากเดิมจะคิดจาก ราคาหุ้น X จำนวนหุ้นที่จดทะเบียน แต่เกณฑ์ใหม่ เป็น ราคาหุ้น X จำนวนหุ้นที่จดทะเบียน X หุ้นที่กระจายสู่รายย่อย (ฟรีโฟลต) ดังนั้น จะมีหุ้นได้รับประโยชน์จากเกณฑ์ใหม่ คือหุ้นที่มีการกระจายให้กับรายย่อยสูง (ฟรีโฟลตสูง) โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มการเงิน กลุ่มธนาคาร ที่จะได้รับการปรับน้ำหนักในดัชนีเพิ่มขึ้น อาทิ BBL, SCB, KBANK, SCC, BDMS, CPALL, INTUCH, CPN, PTT และ TISCO

ส่วนหุ้นที่จะเสียประโยชน์ เป็นหุ้นที่มีการกระจายหุ้นสู่รายย่อยน้อย อาทิ AOT, DELTA, OR, GULF, ADVANC, PTTEP, GPSC, AWC, SCGP และ BJC

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่ด้วยการปรับน้ำหนักใน SET50 ถือได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่มีการกระจายหุ้นไปสู่บุคคลได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการคัดเลือกหุ้นเข้า SET50 ยังคงเหมือนเดิม แต่น้ำหนักจะเปลี่ยนไป ทำให้หุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำมีน้ำหนักลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวตามดัชนี

สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์มากสุดจากเกณฑ์ใหม่จะเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคาร จากเดิมน้ำหนักในดัชนีอยู่ที่ 15.45% จะเพิ่มเป็น 21.1% คิดบน SET50 ส่วนหุ้นในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์จะถูกลดน้ำหนักมากสุด จากเดิม 12.5% จะลดเหลือ 9.7% คิดบน SET50 (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์คิดจากราคาปิด ณ 19 ก.พ.64)

ฝ่ายวิจัย CGS-CIMB ประเมินหุ้น 5 ตัวแรกที่ได้รับการเพิ่มน้ำหนักตามเกณฑ์ใหม่ (คำนวณ ณ วันที่ 19 มี.ค.64 บน SET50) ดังนี้ BBL จาก 2.03% เพิ่มเป็น 4.34%, SCB เดิม 3.17% เพิ่มเป็น 5.25%, KBANK เดิม 2.94% เพิ่มเป็น 4.74%, SCC เดิม 3.81% เพิ่มเป็น 5.46% และ BDMS เดิม 2.89% เพิ่มเป็น 4.04%

ส่วนหุ้น 5 ตัวแรกที่จะถูกลดน้ำหนัก ดังนี้ AOT เดิม 8.08% ลดลงเป็น 5.25%, DELTA เดิม 3.29% ลดลงเป็น 1.6%, OR เดิม 3.12% ลดลงเป็น 1.66%, GULF เดิม 3.31% ลดลงเป็น 1.91% และ ADVANC เดิม 4.31% ลดลงเป็น 3.39%

นายกิตติชาญ กล่าวว่า เบื้องต้นวงการโบรกเกอร์และกองทุนส่วนใหญ่เห็นว่าเกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่ดูเป็นธรรมกับหุ้นและดัชนีมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่มีการไล่ราคาหุ้นขนาดใหญ่ที่มีฟรีโฟลตต่ำเหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นกับหุ้น DELTA จึงน่าจะมามีส่วนช่วยให้ตลาดฯ เกิดความสมดุล และมีเสถียรภาพ สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยดัชนีใช้อ้างอิงได้มาตรฐานมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีความคิดเห็นบางส่วนเสนอให้ ตลท.ปรับมาใช้เกณฑ์การนำหุ้นที่มีฟรีโฟลต 25% หรือ 30% ในการคัดเข้ามาคำนวณดัชนี SET50 แต่หากใช้เกณฑ์นี้ก็อาจจะทำให้หุ้นดี ๆ หลายตัวต้องออกจาก SET50 ไป ซึ่ง SET50 ก็เป็นตัวอ้างอิงในการลงทุนของบรรดานักลงทุนสถาบันต่าง ๆ ก็อาจจะต้องมีปัญหาไปด้วย

นายกิติชาญ กล่าวต่อว่า เกณฑ์ใหม่นี้จะแบ่งผลบังคับใช้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 1 ก.ค.64 และช่วงที่ 2 วันที่ 1 ม.ค.65 ซึ่งการปรับน้ำหนักลงทุนหุ้นใน SET50 ตามเกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่จะถูกปรับปีละ 2 ครั้งในเดือนมิ.ย. และ ธ.ค. แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงฟรีโฟลตมากกว่าหรือเท่ากับ 5% ก็จะมีการปรับน้ำหนักการลงทุนใน SET50 ตามไตรมาสได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top