แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนของฮ่องกงนั้นต้องประสบกับปัญหาติดขัดเนื่องจากต้องพึ่งพาวัคซีนซิโนแวกซึ่งผลิตในจีน โดยหลังจากดำเนินการฉีดวัคซีนดังกล่าวจำนวน 160,000 โดสในระลอกแรก ก็ได้มีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิต 7 ราย และมีผู้ได้รับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์อีกหลายสิบราย ซึ่งทำให้ประชาชนหันไปลงชื่อขอฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทคซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกอีกตัวเดียวในฮ่องกง
นางแครี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว โดยนางลัมได้กล่าวยอมรับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวกเป็นอย่างดี แต่หลังจากการฉีดวัคซีนครั้งนั้นเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทั้งวัคซีนซิโนแวกและแผนการระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาลฮ่องกงนั้นกลับถดถอยลง
ถึงแม้การสืบสวนของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของฮ่องกงจะยืนยันว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตการนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนซิโนแวก และมีรายงานพบผู้เสียชีวิต 1 รายที่ได้รับวัคซีนของบิออนเทค แต่ความวิตกกังวลในครั้งนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลฮ่องกงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลกลางของจีนได้ดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตย
ขณะนี้ นางลัมและคณะผู้บริหารฮ่องกงต่างก็ร้องขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนที่วัคซีนจะหมดอายุ โดยได้ปรับเกณฑ์ผู้ที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้ให้เป็นประชาชนอายุ 30-59 ปีที่มีสุขภาพดีเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความเห็นซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ระบุว่า แม้ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีประชาชนชาวฮ่องกงวัยผู้ใหญ่เพียง 37% เท่านั้นที่คาดว่าจะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
การที่ฮ่องกงมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนน้อยในระดับที่ยังตามหลังสิงคโปร์อยู่ อาจส่งผลให้ฮ่องกงกลับมาเปิดให้เดินทางเข้าพื้นที่ได้ช้ากว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่แล้วจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการประท้วงของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเมื่อปี 2562
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 64)
Tags: Sinovac, จีน, ซิโนแวก, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, ฮ่องกง, แครี ลัม, ไฟเซอร์-บิออนเทค