นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้นัดประชุมในวันที่ 1- 2 เมษายน เพื่อพิจารณาเนื้อหาตามที่มอบหมายให้กฤษฎีกาพิจารณาปรับเนื้อหาตามที่รัฐสภาเห็นชอบให้ปรับแก้ไขมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ตาม กมธ.เสียงข้างน้อย ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอให้ปรับแก้ไขเนื้อหาให้เพิ่มเติมสิทธิของประชาชน และรัฐสภาขอทำประชามติได้ ซึ่งจากเนื้อหาเดิมให้สิทธิ์เฉพาะฝ่ายบริหาร และประชามติแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น
ทั้งนี้ยอมรับว่ากรณีที่ต้องแก้ไขนั้นเป็นปัญหาที่กระทบกับมาตราอื่นๆ และมีผลกระทบต่อรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่กฤษฎีกาพิจารณา คือการหามาตรการถ่วงดุลประเด็นที่รัฐสภาหรือภาคประชาชนเสนอให้รัฐบาลทำประชามติ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการทำประชามติบ่อยครั้ง หรือข้อเสนอของรัฐสภาหรือประชาชนผูกมัดรัฐบาลฝ่ายเดียว ซึ่งเท่ากับเป็นการให้สิทธิส่วนเกินมากไป
“วันที่มีการลงมติ และเสียงข้างน้อยชนะเพียง 7 คะแนน เป็นการเพลี่ยงพล้ำ เป็นอุบัติเหตุที่ ส.ว. และ ส.ส.รัฐบาลไม่อยู่ในห้องประชุม และไม่คิดว่าเขาจะชนะ ผมยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นกระทบเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการขอทำประชามติ หากมาจากฝ่ายบริหารนั้นยอมรับได้ แต่หากรัฐสภาลงมติขอทำประชามติ หรือประชาชนขอทำ อาจเป็นการบังคับรัฐบาลมากเกินไป บ้านเราถึงยุคที่ต้องออกเสียงประชามติกันอย่างมากหรือ ทั้งที่ชีวิตของผม เคยทำเห็นการทำประชามติ 2 ครั้งคือรัฐธรรมนูญ”
นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล แต่หากไม่ให้ผ่านตามที่มีคนระบุว่าอาจถูกคว่ำวาระสามนั้นก็จะเป็นปัญหากับรัฐบาลเช่นกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลและเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ ดังนั้นหากร่างกฎหมายถูกคว่ำโดยรัฐสภาอาจเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออกได้ เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุครัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องยุบสภา เพราะร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ผ่านสภาฯ อย่างไรก็ดีในประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องจารีตประเพณี แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบหากกฎหมายสำคัญของรัฐสภาไม่ผ่าน
“มองว่าร่างกฎหมายประชามติเป็นชนวนระเบิดของรัฐบาล เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อถ่วงดุลสิทธิของรัฐสภา และประชาชน จะเป็นอย่างไร เพราะต้องรอพิจารณาวันที่ 1-2 เมษายน ที่ กมธ.นัดประชุมอีกครั้ง กมธ.ฯมีสิทธิปรับปรุง เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ก่อนที่เสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาในวาระสองต่อไป”
นายวันชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)
Tags: ชูศักดิ์ ศิรินิล, พ.ร.บ.ประชามติ, รัฐสภา, วันชัย สอนศิริ, สมาชิกวุฒิสภา, แก้ไขรัฐธรรมนูญ