นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุนในการเข้าซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปี 64 ไว้ที่ 6,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เงินลงทุนในการเข้าซื้อหนี้ไป 3 พันล้านบาท
โดยที่บริษัทมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถาบันการเงินจะนำหนี้เสีย (NPL) ออกมาเปิดประมูลมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของหนี้เสียในระบบยังจะเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลไห้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อีกทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้ในกลุ่มที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้หลังจากเกิดโควิด-19 รอบใหม่ว่าหลังจากสิ้นสุดมาตรการในช่วงกลางปีนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากน้อยเพียงใด
“ยังมองว่าปีนี้เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าซื้อหนี้เพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้ม NPL ที่ยังสูง ทำให้เราตั้งงบซื้อหนี้ในปีนี้เพิ่มมามากจากปีก่อน และเข้ามาขยายพอร์ตบริหารจัดการหนี้ของเราให้โตขึ้นจากปีก่อนที่ 2 แสนล้านบาท”
นายสุทธิรักษ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาและรอเซ็นสัญญาในการเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน 3-4 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 1/64 อย่างน้อย 1 ราย
ส่วนธุรกิจประกันภัยของ JMT นั้นอาจมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักในปี 64 เนื่องจากบริษัทหันมามุ่งเน้นการสร้างยอดขายอย่างมีคุณภาพมากกว่าการเพิ่มปริมาณ เพื่อทำให้กำไรของธุรกิจประกันภัยดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งจะช่วยหนุนภาพรวมของธุรกิจ JMT แม้ว่าธุรกิจประกันภัยจะมีสัดส่วนรายได้เพียง 8% ของรายได้รวม
นอกจากนี้ ปัจจัยที่หนุนกำไรของบริษัทในปีนี้จะเติบโตก้าวกระโดดได้นั้นมาจากการรับรู้รายได้จากพอร์ตหนี้ที่มีการชำระเสร็จสิ้น (Fully Amortized) ที่จะมีการรับรู้รายได้จากการจัดเก็บหนี้ที่การชำระเสร็จสิ้นเพิ่มมาอีก 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นพอร์ตหนี้ที่บริษัทไม่มีต้นทุนในการบริหารจัดการ และได้มาร์จิ้นที่ดี ช่วยหนุนกำไรของบริษัทให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้
นายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท (JMART) กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการต่อยอดธุรกิจของ JMT ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจในเครือ JMART ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพให้กันในกลุ่ม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประเมินราคาสินทรัพย์และการบริหารจัดการสินทรัพย์ ซึ่ง JMT นั้นมีศักยภาพในการบริหารหนี้ และการเข้าประมูลหนี้
และมีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถนำมาร่วมกันเสริมศักยภาพในการแตกไลน์ธุรกิจดังกล่าวได้ และช่วยเสริมรายได้ใหม่ๆมาให้กับ JMT ที่ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และทำให้กลุ่ม JMART มีศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)
Tags: JMT, ปิยะ พงษ์อัชฌา, สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์, เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส