PACO ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 3.96 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 182.86%

หุ้น PACO ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 3.96 บาท เพิ่มขึ้น 2.56 บาท (+182.86%) จากราคาขาย IPO ที่ 1.40 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,833.87 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 3.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 4.20 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 3.30 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯมองว่าราคา IPO ของบมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากมี P/E ในระดับที่เคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนประกอบรถยนต์ในไทยที่ 18 เท่า โดยจากลักษณะสินค้าของบริษัทที่เติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายในปีล่าสุดลดลงจากผลกระทบของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นสูงได้โดยปัจจัยหลักมา จากการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ดีขึ้นทั้งจากการมีต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต นอกจากที่บริษัทมีแผนการขยายตลาดไปยังมาเลเซียซึ่งมีการทำตลาดไว้แล้ว บริษัทยังมองถึงแผนการที่จะขยายตลาดประเทศอื่นใน ภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย และนอกจากนี้แม้จะมีกระแสเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับรถยนต์แบบบดั้งเดิมแต่ด้วยลักษณะสินค้าของบริษัททำให้ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

PACO ดำเนินธุรกิจโดยการผลิต และจัดจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องปรับอากาศรถยนต์ทดแทน ในลักษณะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคในตลาดอะไหล่รถยนต์ทดแทนภายใต้แบรนด์ PACO (REM), จำหน่ายให้แก่ บริษัทฯ รถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ตามศูนย์บริการรถยนต์ (OES) และ รับจ้างผลิต (OEM) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) คอยล์ร้อน 2) คอยล์เย็น และ 3) ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

โครงการในอนาคตของบริษัท ได้แก่ 1. บริษัทฯ มีแผนก่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ในบริเวณติดกับโรงงาน เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า แทนการใช้คลังสินค้าในปัจจุบันที่อยู่ห่างเป็นระยะ 25 กม. ซึ่งช่วยทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าเช่าที่จะครบกำหนดสัญญาในปี 2565 และค่าขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังคลังสินค้าได้ โดยคาดจะใช้ค่าใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท

2.เนื่องจากในการผลิตมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก และมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด บริษัทฯ จึงมีแผนจะใช้พื้นที่ว่างบนหลังคาโรงงานทั้ง 3 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

3. จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าและขยายตลาดในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซียมีโครงสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์คล้ายคลึงกับประเทศไทย และยังไม่มีผู้ผลิตอะไหล่เครื่องปรับอากาศรถยนต์ที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกไปขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายในมาเลเซีย บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสการเติบโต และได้มีแผนจัดตั้งบริษัทย่อยถือหุ้นโดยบริษัทฯ ทั้งจำนวน เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าและสำนักงานขาย คาดจะใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO ในการลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top