นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนทั้งเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร ตามหลัก BCG Model เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการเกษตรที่สามารถต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ประกอบกับตลาดสินค้ากัญชงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดประกาศมาตรฐานสารสกัดจากกัญชง หลังจากที่บอร์ด สมอ. มีมติเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำมันเมล็ดกัญชง สารสกัดกัญชง เปลือกกัญชง และแกนกัญชง ในการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าประเภทยา อาหาร เครื่องสำอาง และสินค้าสมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดจากกัญชงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ผมได้สั่งการให้ สมอ. เร่งรัดจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าเกษตรแปรรูปจากสมุนไพรไทย โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาสินค้าจากกัญชงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ” นายสุริยะฯ กล่าว
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้มีการจัดทำมาตรฐานสารสกัดจากสมุนไพรไทยตามศักยภาพและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว จำนวน 29 มาตรฐาน เช่น สารสกัดขมิ้นชันผง สารสกัดฟ้าทะลายโจรผง สารสกัดกระชายดำผง สารสกัดกระเจี๊ยบแดงผง และสารสกัดบัวบกผง เป็นต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 18 มาตรฐาน เช่น น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมไทย สารสกัดมะขามป้อม สารสกัดงาขี้ม่อน สารสกัดน้ำมันถั่วอินคา สารสกัดบุกบง และสารสกัดว่านหางจระเข้ผง เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์
สำหรับมาตรฐานสารสกัดจากกัญชง สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานในชุดของกัญชงซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ สิ่งทอ กระดาษ ยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง โดยบอร์ด สมอ. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา 5 มาตรฐาน ดังนี้
1. น้ำมันเมล็ดกัญชง (มอก.3171-2564)
2. สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30 % โดยมวล (มอก.3172-2564)
3. สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80 % โดยมวล (มอก.3173-2564)
4. เปลือกกัญชง (มอก.3184-2564)
5. แกนกัญชง (มอก.3185-2564)
ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 มาตรฐาน คือ เส้นใยกัญชง คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานสารสกัดจากกัญชงแล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานสารสกัดน้ำมันกฤษณาอีกด้วย
“ในการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา บอร์ดได้เห็นชอบมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 64 มาตรฐาน ทั้งที่เป็นสินค้าแปรรูปจากสมุนไพร สินค้าทั่วไป และสินค้าที่ สมอ. เตรียมประกาศควบคุมอีก 9 รายการด้วย เช่น ขวดน้ำดื่มพลาสติก เก้าอี้นวดไฟฟ้า เครื่องฟอกอากาศ กล่องพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับการอุ่น และการอุ่นครั้งเดียวในไมโครเวฟ กระทะโลหะและหม้อที่ใช้ความร้อนจากเตาโดยตรง ออกซิเจนทางการแพทย์ และไนทรัสออกไซด์ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน”
เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)
Tags: กัญชง, กัญชา, กัญชาทางการแพทย์, สมอ., สมุนไพร, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ