PODCAST: กองทุนปรับพอร์ตบิ๊กแคป หนีบอนด์ยีลด์-เกณฑ์ใหม่ Free Float

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (22-26 มี.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 22 มีนาคม
2564

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (15-19 มี.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,563.96 จุด ลดลง 0.27% จากสัปดาห์ก่อน นำโดยแรงขายหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีโอกาสที่จะเห็นภาพของดัชนีฯเคลื่อนไหวผันผวน หรืออาจจะเห็นการแกว่งตัวในทิศทางขาลงบ้าง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยการปรับพอร์ตของผู้ลงทุนสถาบัน ที่เริ่มโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีปลอดภัยมากขึ้น ภายหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งสู่ระดับ 1.71% ทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 14 เดือน แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ผลของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 ก็ตาม

และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมคือ 0.50% ต่อปี ตามทิศทางเดียวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดคือมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ว่าจะเริ่มมองเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวได้ตามความคาดหวังของผู้ลงทุนมากน้อยแค่ไหน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญนั้นคือกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ (เฮียริ่ง) เรื่องการปรับหลักเกณฑ์คำนวนดัชนีใหม่ โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 18 มี.ค. จนถึง 2 เม.ย.นี้ และหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการนำเอาข้อมูลในส่วนการกระจายหุ้นในมือของผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float เข้ามาร่วมเป็นเกณฑ์ในการคำนวณดัชนีในครั้งนี้ด้วย และนั้นจะเป็นผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน และอาจจะเริ่มเห็นการทยอยปรับลดน้ำหนักการลงทุนในบางหลักทรัพย์ที่คำนวณอยู่ในดัชนี SET50 SET100 และ SETHD ก่อนจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมินภาพ SET INDEX ในรอบสัปดาห์นี้ ยังคงต้องระมัดระวังแรงขายหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นที่ผู้ลงทุนสถาบันถือครอง สอดคล้องกับมุมมองลดความเสี่ยงจากปัจจัยการเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ เบื้องต้นมองว่าหากดัชนีฯปรับตัวลดลงและไม่สามารถยืนเหนือแนวรับสำคัญ 1,550 จุด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเห็นการปรับตัวลดลงสู่แนวรับถัดไปที่ 1,530 จุดได้อีกครั้ง

ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 30.70-31.10 บาทต่อดอลลาร์ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (24 มี.ค.) ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนก.พ. ตลอดจนถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และประเด็นของเรื่องวัคซีนทั่วโลก

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-การใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Core PCE Price Index เดือนก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ ด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top