CDC ชี้โควิดกลายพันธุ์ในแคลิฟอร์เนียเป็นอันตราย แพร่เชื้อเร็วขึ้น 20%

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ 2 ชนิดที่พบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายและน่ากังวล

CDC ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทั้ง 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีชื่อว่า B.1.427 และ B.1.429 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าปกติถึง 20% ซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาบางวิธีด้อยประสิทธิภาพลง

CDC ชี้แจงอีกว่า เชื้อโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ในแคลิฟอร์เนียส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาแบบฉุกเฉิน (EUA) อย่างมีนัยสำคัญในบางกรณี ทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อของเซรุ่มลดลงในระดับปานกลางในผู้ป่วยระยะพักฟื้นและหลังรับวัคซีน

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสสามารถปรับตัวด้วยการกลายพันธุ์ได้เสมอ โดยในสหรัฐและทั่วโลกได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ไว้มากมายตลอดการระบาดครั้งนี้

เชื้อโควิด-19 ที่ CDC กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้น เป็นสายพันธุ์ที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า มีโอกาสแพร่เชื้อได้สูงขึ้น เสี่ยงต่อการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ทั้งยังลดปฏิกิริยาที่แอนติบอดีสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อระหว่างที่ติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ลดทอนประสิทธิภาพของการรักษาหรือวัคซีน รวมถึงส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยล้มเหลว

ปัจจุบัน CDC กำหนดให้เชื้อไวรัสโควิด 5 สายพันธุ์จัดอยู่ในประเภท “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” ซึ่งนอกจากสองสายพันธุ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสามสายพันธุ์ ได้แก่ B.1.1.7 ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร, B.1.351 พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และ P.1 พบครั้งแรกในบราซิล

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจาก CDC ระบุว่า สหรัฐตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ อยู่ที่ 4,855 ราย ซึ่งแบ่งเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์ B.1.1.7 จำนวน 4,686 ราย, สายพันธุ์ B.1.351 จำนวน 142 ราย และสายพันธุ์ P.1 อีก 27 ราย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในสหรัฐถูกตรวจสอบเป็นประจำผ่านการเฝ้าระวังลำดับสารพันธุกรรม การศึกษาในห้องปฏิบัติการ และการสอบสวนทางระบาดวิทยา

อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐเผยว่า มาตรการป้องกันต่างๆ อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ทำความสะอาดมือเป็นประจำ และฉีดวัคซีนโดยเร็ว สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top