ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนมกราคม 2564 แม้จะเติบโตเพียง 0.3% แต่เมื่อหักทองคำออกยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ 6.3% สะท้อนภาพบวกของการฟื้นตัวของตลาดคู่ค้าไทยในปีนี้ สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นขยาย 5.5% (จากเดิม 5.2%)
โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนขยับคาดการณ์เป็น 5.1% (จาก 3.1%) รวมทั้งการกลับมาเร่งตัวของเศรษฐกิจจีน คาดว่าเติบโตอย่างโดดเด่น 8.1% ตลอดจนแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในฝั่งยุโรป ล้วนปลดล็อคข้อจำกัดทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
“ด้วยภาพบวกดังกล่าวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นกลับมาได้มากขึ้นในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ก็จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกไทยจะกลับมาเติบโตได้ 4.5% หรือในกรอบประมาณการที่ 3.5-5.5%” บทวิเคราะห์ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในมิติของตลาด และมิติของสินค้า โดยมิติของตลาดนั้น ทุกตลาดกลับมาสดใสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และอานิสงส์จากฐานต่ำจึงกลับมาเร่งตัวดี จากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามาช่วยคลี่คลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ส่งผลบวกให้แต่ละตลาดฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่มิติของสินค้านั้น การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่กลับมาเติบโต ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นตัวเสริมให้ทุกสินค้าไปได้ดีในปี 2564
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป การส่งออกของไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งการส่งออกที่ฟื้นกลับมายังมีระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 อีกทั้งการเร่งตัวดังกล่าวเป็นการเติบโตที่มาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว บวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น แม้จะได้อานิสงส์จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้สินค้า IT ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่การเติบโตดังกล่าวอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกของไทยได้อย่างยั่งยืน
โครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันยังคงตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่อาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าหากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่มาเพิ่มเติม หรือนักลงทุนเดิมยังคงย้ายฐานการผลิตออกไปจากไทย เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติราว 40% ทำให้ไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญสร้างรายได้อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ICs ไดโอด ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDDs)) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังอยู่ในกระแสเทคโนโลยียุคปัจจุบันและไทยยังอยู่ในแผนการผลิตของนักลงทุนโลก
แต่ในบรรดาสินค้าดังกล่าว สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยขับเคลื่อนการค้าในภาพรวมของไทยได้อีกไม่นาน เนื่องจากเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางที่ก็มีอีกหลายประเทศในเอเชียผลิตได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ทุกวันนี้สินค้าไทยก็ต้องแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเผชิญกับโจทย์เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตเพื่อให้คุ้มค่าในการลงทุน เวียดนามก็กลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนในธุรกิจ IT และยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินดองที่เอื้อต่อการส่งออก
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ท้าทายการส่งออกไทยมาโดยตลอด และยิ่งกดดันให้สินค้าไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้า IT แข่งขันยากขึ้นไปอีก โดยค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน โดยแข็งค่ามากว่า 30% นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ทยอยดีขึ้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าได้อีก เมื่อบวกกับต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานไทยที่เสียเปรียบประเทศอื่นในอาเซียน ก็คงยากที่นักลงทุนจะเลือกไทยเป็นแหล่งขยายการลงทุนเพื่อการส่งออกในระยะต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โจทย์หลักของไทยคงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง) อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริง ก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 64)
Tags: IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ส่งออก, เศรษฐกิจโลก