แม้ว่าหุ้น บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ไม่นานเมื่อวันที่ 9 ต.ค.63 แต่จากโมเดลธุรกิจที่เติบโตไปกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future Food) รองรับความต้องการตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอีกมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) ทำให้วันนี้หุ้นของ NRF กลายเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาหุ้น NRF กลับมาทะยานทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง แม้ว่าจะซื้อขายบน P/E มากกว่า 100 เท่าแล้วก็ตาม
ผลงานปี 64 ทุบนิวไฮ เป้ารายได้ 3 พันลบ.มาเร็วกว่าคาด
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 64 เชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่ เบื้องต้นวางเป้าหมายเติบโตประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีรายได้ 1,408 ล้านบาท แบ่งเป็นการเติบโตผ่าน 3 ธุรกิจหลัก โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร Plant-Based Food คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 9% ตามกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น และกระแสความนิยมของผู้บริโภคทั้งประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันจากแผนการขยายธุรกิจด้านต่างๆเพิ่มเติม ทำให้บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายรายได้แตะ 3 พันล้านบาทจะทำได้เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งไว้ภายในปี 67
“ผมอยากฝากผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่สนใจหุ้น NRF อย่ามองผลประกอบการของเราที่กำไรสุทธิของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่อยากมองที่กำไรปกติ (Normal Profit) ของเรามากกว่า เพราะส่วนหนึ่ง P/E สูงมาจากเป็นการสะท้อนกำไรสุทธิปี 63 ที่ทำได้เกือบ 130 ล้านบาท ซึ่งนับรวมค่าใช้จ่ายพิเศษต่างๆเข้าไปเยอะเป็นผลกระทบตัวเลขทางบัญชี เช่น บันทึกค่าเสื่อมเป็นผลจากการควบรวมกิจการ ,ค่าใช้จ่ายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนั้นหากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายต่างๆและบันทึกค่าเสื่อม บริษัทจะมีกำไรปกติจะทำได้เกือบ 280 ล้านบาท
ขณะที่ในอนาคตอีก 12 เดือนข้างหน้าอยากติดตามว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรได้ดีแค่ไหน เพราะปีนี้จะเห็นบางอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ Plant-Based Food คาดว่าจะชัดเจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า รวมถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ E-Commerce นับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเร่งผลประกอบการเติบโตได้อย่างน่าสนใจในปีนี้”
นายแดน กล่าว
เพิ่มกำลังผลิต Plant-Based Food เป็นสัดส่วน 30% ภายใน 3-5 ปี
ทั้งนี้ แผนการขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภท Plant-Based Food ที่ผ่านมาบริษัทร่วมลงทุนกับ The Brecks Company Limited ดำเนินการผ่านบริษัทชื่อ Plant and Bean เป็นโรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนจากพืชในประเทศอังกฤษ โดยโรงงานนี้มีกำลังผลิต 5,000 ตัน เดินเครื่องการผลิตเต็ม 100%
และ บริษัทยังมีแผนขยายโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 80,000 ตันต่อปีบนเนื้อที่เดิม 150 ไร่ ปัจจุบันใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงงานเพียง 15% ของพื้นที่โดยรวมเท่านั้น สะท้อนว่าในอนาคตบริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีกมาก
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายก่อตั้งโรงงานผลิต Plant-Based Food ครอบคลุมอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ,จีน ,อินเดีย ,ทวีปโซนอเมริกาใต้ และในประเทศไทยด้วย เบื้องต้นคาดว่าธุรกิจอาหาร Plant-Based Food จะสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างมีนัยสำคัญปี 65 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Plant-Based Food ขึ้นเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 30% ของรายได้รวม จากปีก่อนอยู่ที่ 9%
อัดงบเพิ่มอีก 2 พันลบ.ไล่ซื้อกิจการต่อยอด E-Commerce
นายแดน กล่าวต่อว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 64 ส่วนหนึ่งจะมาจากการเริ่มรับรู้รายได้ของกลุ่มธุรกิจใหม่ คือ การขายสินค้าในช่องทาง E-Commerce ผ่านแพลตฟอร์ม Amazon เป็นปีแรก ซึ่งบริษัทได้อนุมัติเพิ่มงบลงทุนอีก 2 พันล้านบาทที่จะขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทจะมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมช่วงเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯรวมเป็น 3 พันล้านบาทเพื่อใช้ขยายกิจการตามแผน 3 ปีข้างหน้า โดยงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา 2 พันล้านบาทนั้นจะขยายธุรกิจ E-Commerce ด้วยการเข้าซื้อกิจการเอสเอ็มอีในสหรัฐฯเน้นแบรนด์ชั้นนำที่มียอดขายที่ดีในแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Amazon
และดีลล่าสุด NRF เพิ่งเข้าไปซื้อกิจการในธุรกิจอาหารเสริมผ่านบริษัท Boosted NRF Corporation เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เอ็นอาร์เอฟ คอนซูเมอร์ (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 55%) กับบริษัท Boosted Ecommerced, Inc ซึ่งเป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มียอดขาย 300 ล้านบาทต่อปี และ EBITDA ประมาณ 190 ล้านบาท ใช้งบลงทุนราว 500 ล้านบาท นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะใช้งบลงทุนไม่ถึง 3 เท่าของ EBITDA บริษัทที่เข้าไปซื้อกิจการ
“ดีลนี้เป็นการลงทุนคุ้มค่ามากหากเทียบกับดีลอื่นๆ ที่มีการนำเสนอมาคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 10-15 เท่าของ EBITDA ซึ่งจะมาเป็นส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าผ่านออนไลน์ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เป็นบทเรียนให้กับเราว่าอย่ายึดติดกับการขายสินค้าบน shelf ของซุปเปอร์มาร์เก็ตเพียงเดียว ซึ่งแบรนด์ที่บริษัทเข้าไปซื้อกิจการ แม้ว่ามียอดขาย 300 ล้านบาท แต่มีพนักงานเพียง 2 คนเท่านั้น Ebitda Margin สูงถึง 60% เป็นแบรนด์ขายให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง”
นายแดน กล่าว
บริษัทยังเดินหน้าแผนซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจ E-Commerce อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่สนใจซื้อกิจการอีกหลายแห่ง เพื่อผลักดันให้ EBITDA เพิ่มเป็น 1 พันล้านบาทภายใน 36 เดือน ดังนั้นช่วงระยะเวลาปิดของแต่ละดีลหลังจากนี้จะเป็นลักษณะเดือนเว้นเดือน หรือ 2 เดือนต้องปิด 1 ดีล แต่ละดีลขนาดของกิจการก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนศึกษาเข้าซื้อกิจการหลาย 10 ดีล
พร้อมศึกษางบลงทุนเพิ่มเติมขยายธุรกิจกัญชง-แย้มต่างชาติทาบร่วมทุน
สำหรับธุรกิจกัญชงในไทยที่ภายหลังจากทยอยปลดล็อกสามารถดำเนินกิจการได้ถูกกฎหมายนั้น บริษัทมองเห็นโอกาสเติบโตระยะยาว สะท้อนจากการเติบโตของมูลค่าตลาดในต่างประเทศ จากเดิมเป็นสิ่งผิดกฏหมาย กลายมาเป็นตลาดที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยน่าจะเติบโตไปได้คล้ายกัน
แต่สิ่งต้องติดตาม คือ ช่วงแรกสินค้าจะมีมากกว่าความต้องการของตลาดหรือไม่ แต่การที่บริษัทเข้าไปร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิล เฮลท์ จำกัด (GTH) มีโครงสร้างช่องทางการจำหน่ายที่ดีจากความร่วมมือกับหลายซุปเปอร์แบรนด์ สะท้อนว่ามีความต้องการในตลาดรองรับ ดังนั้น โจทย์ของบริษัทคือกำหยดกลยุทธ์อย่างไรเพื่อมีต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาคุ้มค่าและคุณภาพที่ดีสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆในประเทศ
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ในขั้นตอนศึกษางบลงทุนเพิ่มเติมขยายธุรกิจกัญชง เพราะรูปแบบธุรกิจของ GTH ส่วนใหญ่เป็นขาปลายน้ำ แต่ขากลางน้ำและต้นน้ำอยู่ขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติม ล่าสุดมีหลายบริษัทที่เป็นสัญชาติต่างประเทศขอร่วมทุนกับบริษัท เช่น บริษัทสัญชาติแคนาดาอยากร่วมลงทุนเรื่องโรงสกัดด้วย
“อุตสาหกรรมกัญชงเมืองไทย วันนี้ผมพูดได้เต็มปากว่าทุกคนยังไม่ทราบว่าต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งคำว่าต้นทุนของผมคือต้องเริ่มตั้งแต่การปลูก สกัด เป็นปริมาณหลักหมื่นตัน ถึงจะทราบค่าเฉลี่ยของต้นทุนที่ชัดเจนของการผลิตว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ขณะที่ประเภทของผลิตภัณฑ์ก็มีจำนวนมากทั้งใยกัญชง เมล็ดกัญชง น้ำมันกัญชง สารสกัด CBD เป็นต้น หากทราบต้นทุนที่แท้จริงแล้วก็จะสามารถรู้ว่าเราจะนำผลิตภัณฑ์กัญชงไปแข่งขันในตลาดโลกได้หรือไม่ หรือแข่งขันได้แค่เฉพาะตลาดในไทยเท่านั้น”
นายแดน กล่าว
นายแดน กล่าวว่า โอกาสเกิดดีลกับพันธมิตรธุรกิจกลางน้ำของกัญชงน่าจะเป็นดีลร่วมกับต่างชาติเพื่อขยายในต่างประเทศ ส่วนธุรกิจกลางน้ำในประเทศไทยถ้ามีโอกาสก็อาจจะลงทุนดำเนินการด้วยตัวเอง เนื่องจากธุรกิจบริษัทเป็นผู้ประกอบการอยู่กลางน้ำอยู่แล้ว และมีความพร้อมพันธมิตรที่เป็นขาปลายน้ำอยู่แล้ว
“ตอนนี้ดีลกลางน้ำก็มีหลายดีลเข้ามา ไม่ใช่แค่ดีลกับบริษัทสัญชาติแคนาดาอย่างเดียว ก็มีบริษัทสัญชาติยุโรป ออสเตรเลีย ส่วนประเทศแคนาดาที่มีความน่าสนใจคือเรื่องอุตสาหกรรมกัญชงกัญชามีมูลค่าขนาดใหญ่ และสามารถแข่งขันได้ด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องดีลนี้หรือไม่”
สำหรับดีล GTH นั้น NRF จะเข้าซื้อหุ้น 49% จาก บริษัท พีเอ็ม 80 จำกัด ของตระกูล “มหากิจศิริ” และผู้ถือหุ้นในนามบุคคล ซึ่ง GTH มีนายจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ เป็นผู้ก่อตั้ง ด้วยวิธีการออกหุ้นสามัญเพื่อชำระราคา (Share Swap) จะมีมูลค่าโดยประมาณ 62.91 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 8.23 บาท
ดิสรัปตัวเองทุกๆ 3 ปีสานฝันเข้าคำนวณ DJSI
นายแดน กล่าวว่า แม้ว่าหลายบริษัทจะวางแผนระยะยาว 5-10 ปี แต่บริษัทมีความตั้งใจว่าจะต้องดิสรัปตัวเองทุกๆ 3 ปี หากไม่เช่นนั้นก็จะถูกคนอื่นมาดิสรัป และทุกๆ 3 ปีเมื่อบริษัทดิสรัปและวางกลยุทธ์การลงทุนใหม่แล้วจะต้องสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างน้อยหลังจาก 3 ปีที่เข้าไปลงทุน และหลังจากนั้นก็จะลงทุนรอบใหม่เก็บเกี่ยวกำไรอีกครั้ง เชื่อว่าบนกลยุทธ์ดังกล่าวน่าจะสร้างการเติบโตให้กับผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง
“ตัวผมเองเข้าใจธุรกิจและเข้าใจเรื่องการเงิน และผมก็ทราบว่าธุรกิจของบริษัทจะเดินทางต่อไปอย่างไรในอีก 30 ปีข้างหน้า เช่น นโยบาย โครงสร้างภาษี เทคโนโลยี ความต้องการผู้บริโภค เป็นตัวแปรที่คาดการณ์ได้ นั้นหมายว่าเรามองเห็นว่าปี 2050 จะเป็นอย่างไร จากนั้นก็แค่มองย้อนกลับมาว่าบริษัทจะต้องวางแผนการลงทุนอย่างไรเพื่อเป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านอาหาร”
นายแดน กล่าว
ขณะที่ในอนาคตส่วนตัวในฐานะบริหารสูงสุดก็มีความฝันว่าอยากนำ NRF เข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ที่เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลก
“ส่วนตัวผมมี 2 หมวกในฐานะซีอีโอ NRF และอีกหมวกคือเป็นหนึ่งคนที่เป็นห่วงโลกร้อน และเกษตรกรไทย เพื่อให้ทันกับ Climate Change เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเราก็มีความฝันที่อยากเข้าเป็นสมาชิก DJSI ก็คงสักวันหนึ่ง ผมก็คิดว่าผมก็ทำได้นะ เพราะ NRF คือชีวิตของผมเป็นชีวิตของทีมงานของเราด้วย เราก็ภูมิใจกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ นั้นคือเราจะช่วยเหลือคนอย่างไร ,เราจะช่วยเหลือโลกอย่างไร ,และเราจะสร้างการเติบโตบริษัทอย่างไรเชื่อว่าสิ่งที่ตามก็จะสะท้อนเข้ามาในราคาหุ้น NRF อย่างแน่นอน”
นายแดน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 64)
Tags: INTERVIEW, NRF, ธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช, ผู้ผลิตอาหาร, สัมภาษณ์พิเศษ, หุ้นไทย, เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์, แดน ปฐมวาณิชย์