กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วมยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งไม่พบว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะมีผลเชื่อมโยงกับการได้รับวัคซีนของบริษัท โดยระบุว่า
- จากผลการสอบสวนกรณีที่มีผู้เสียชีวิต หลังจากได้รับวัคซีนที่ประเทศเดนมาร์ก พบว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีนแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทย โดยคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เห็นควรให้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปในจังหวัดเป้าหมายตามแผนกำหนดการเดิมต่อไป
- โดยวานนี้ (16 มี.ค.) เริ่มดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวันแรก ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี 17 ท่าน รวมถึงอาจารย์แพทย์อีก 5 ท่าน ได้แก่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา, ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา และ นพ.โสภณ เมฆธน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเข้าประชุม ครม. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
- เพื่อบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรม ความเท่าเทียม หลักฐานทางวิชาการ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ และความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้บริบทของประเทศ ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานด้านต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานวัคซีนในประเทศไทยทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รักษาความมั่นคงระบบสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และ เห็นชอบจาก ครม. ในการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อวัคซีนเพื่อครอบคลุมประชาชนในประเทศไทยและ มีแผนการดำเนินการฉีดครบทั้งประเทศภายในปี 2564 นี้
- ก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุญาตให้ใช้จริง ต้องผ่านการทดลองในมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ผลและไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง สำหรับแอสตร้าเซนเนก้าได้ผ่านขั้นตอนนั้นแล้ว และได้รับการรับรองในความปลอดภัย จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก รวมถึงประเทศอื่นๆกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
- เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั่วโลก และเกือบทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรง ส่วนกรณีอุบัติการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันของคนไทย มีน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ โดยพบว่าน้อยกว่าคนยุโรปและอเมริกาถึง 3 เท่า และการเกิดภาวะนี้มักพบเพิ่มขึ้น 4.5 เท่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น แพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune disease) โรคมะเร็งบางชนิด (solid tumor) การกินยาคุมกำเนิด และมีประวัติครอบครัวเป็นภาวะอุดตันลิ่มเลือด เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
- โดยจากฐานข้อมูลของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีรวบรวมรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วงตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมีนาคม 2564 พบรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำทั้งหมด 29 ราย ซึ่งตามอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะนี้ตามปกติในภาวะที่ไม่มีวัคซีนในจำนวนประชากรเท่ากับที่ได้รับวัคซีน คาดการณ์ว่าอาจพบได้ถึง 916 ราย ซึ่งนับว่าอุบัติการณ์การพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในครั้งนี้ น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะพบได้ในภาวะปกติมาก โดยพบเพียง 0.03 เท่าของภาวะปกติเท่านั้น
- มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในเอเชียฉีดไปกว่า 6 ล้านคนแล้ว ในจำนวนวัคซีนที่ฉีดไปทั่วโลกนี้เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 34 ล้านโดส ซึ่งฉีดในประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ออสเตรีย และเกาหลี ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับข่าวที่มีผู้เสียชีวิต 7 ราย หลังได้รับวัคซีนที่ในประเทศเกาหลี และบางประเทศในยุโรป (ออสเตรีย 2 ราย) ได้มีการสอบสวนกรณีดังกล่าวแล้ว ผลคือไม่ได้เสียชีวิตจากการได้รับวัคซีน และอัตราการเสียชีวิตที่พบในผู้รับวัคซีนในเกาหลีใต้ ถือว่าน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตโดยทั่วไปของชาวเกาหลีมาก
- การสั่งให้ชะลอการฉีดในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และอินโดนีเซีย เป็นมาตรการปกติเพื่อพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันแถลงการณ์ล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ให้ความเห็นที่ตรงกันว่าการให้วัคซีนควรจะดำเนินต่อไป เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้มีมากกว่าความเสี่ยง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, WHO, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19