นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 64 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 18% ตามปริมาณน้ำตาลของกลุ่มรอบปีการผลิต 63/64 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ 1.75 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยีลด์) ที่ 122 กิโลกรัม/ตันอ้อย โดยคาดว่าจะมีปริมาณการขายน้ำตาลทั้งปีที่ 210,000 ตัน แบ่งเป็นการส่งออก 70% และขายในประเทศ 30%
ขณะที่ราคาน้ำตาลยังคงมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายส่งผลให้ความต้องผู้บริโภคน้ำตาลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีความต้องการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สวนทางผลผลิตทั่วโลกลดลงจากปัญหาเอลนีโญ และประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 อย่างประเทศบราซิล ได้เพิ่มสัดส่วนนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นทำให้ซัพพลายในตลาดลดลง โดยปัจจุบันราคาน้ำตาลอยู่ที่ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์สูงสุดในรอบ 4 ปี เทียบกับปีก่อนที่ราคา 14 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าแล้วกว่า 80%
บริษัทฯ ยังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจจากการนำน้ำตาลทรายดิบไปทำเป็นน้ำตาลรีไฟน์ (น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์) ที่สร้างกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่า ซึ่งทำให้ BRR สามารถเก็บเกี่ยวรายได้สูงสุดจากธุรกิจน้ำตาล
นอกจากนี้ บริษัทยังนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ทำให้ BRR ได้ประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำชานอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิง ชีวมวลผลิตไฟฟ้าและนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ขณะที่กากหม้อกรองนำไปผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อนำไปช่วยเหลือให้แก่ชาวไร่ เพื่อให้มีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลงและปุ๋ยมีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่
โดยกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด ถือเป็นธุรกิจ New S-Curve มาต่อยอดสร้างความมั่นคงของรายได้จากการนำชานอ้อยไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรมทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 320 ล้านชิ้นต่อปี หากสามารถผลิตได้เต็มปีจะสามารถสร้างรายได้ 350 ล้านบาทต่อปี โดยในปีนี้บริษัทคาดจะสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่โรงงานผลิตเยื่อรองรับการผลิตบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาล คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 64 มีกำลังการผลิตสินค้า 20 ตันต่อวัน สามารถรองรับ การผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ได้ 2.5 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบลงถึง 50%
พร้อมกันนี้บริษัทยังเตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องในปี 66 โดยการเพิ่มเครื่องจักรอีก 14 เครื่อง ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 640 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นรายได้ 700 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์อีก 1 โรงนั้น บริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายภาครัฐ หรือโครงการ Quick Win เบื้องต้นคาดเห็นความชัดเจนในเดือน เม.ย.นี้ จากปัจจุบันที่ BRR ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. รวม 16 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (โดยโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 สิ้นสุดสัญญา 10 สิงหาคม 2571 และโรงที่ 2 สัญญาสิ้นสุด 6 เมษายน 2578)
นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ราว 62 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการลงทุนโรงงานผลิตเยื่อรองรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ มูลค่าราว 44 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะใช้วนการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับแผนการเข้าร่วมโครงการ Quick Win มูลค่า 18 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนใหม่ๆ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาการลงทุนในกัญชง และกัญชา โดยมองหาการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และจะพิจารณาให้เหมาะสม และเข้ากับความเชี่ยวชาญของบริษัทด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 64)
Tags: BRR, ชานอ้อย, ชูการ์เคน อีโคแวร์, น้ำตาล, น้ำตาลบุรีรัมย์, ราคาน้ำตาล, อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ