บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 บริษัท กรีน เพาเวอร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ได้ลงนามในสัญญา โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอย กับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยจะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) จำนวน 16 เมกะวัตต์ และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) 3.66 บาท สัญญา 20 ปี
โครงการดังกล่าวจะช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการผลิตและสร้างรายได้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ บริษัทจะได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกำหนดแผนงานการก่อสร้างที่ชัดเจนต่อไป
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นโครงการแห่งที่ 2 ที่ได้มีการลงนามสัญญาลักษณะโครงการร่วมทุนเพื่อบริหารจัดการขยะมูลฝอย จากก่อนหน้าที่ลงนามโครงการโรงฟ้าจากขยะ จ.นนทบุรี ผมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทฯนอกเหนือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทมี และยังส่งผลต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯในอนาคตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ จังหวัดนครศรีฯ ติดตั้งระบบเผากำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าจากขยะสด 350 ตัน/วัน และขยะเก่าในบ่อขยะจำนวน 650 ตัน มาเผากำจัดและผลิตไฟฟ้าขายในอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 3.66 บาท สัญญา 20 ปี รวมทั้งได้รับค่ากำจัดขยะจากเทศบาลจังหวัดนครฯ อีก 350 บาทต่อตัน ซึ่งหลังจากลงนามใน MOU นี้แล้วจะได้มีการวางแผนงานและดำเนินการในเรื่องใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการผลิตบริษัทจะมีรายได้จากโครงการกว่า 500-600 ล้านบาทต่อปี ผลตอบแทนการลงทุนมากกว่า 7-8 %
โดย SUPER จะลงทุนทั้งระบบโรงไฟฟ้าและระบบคัดแยกขยะเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง ส่วนเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะเป็นผู้จัดส่งขยะจำนวน 1,000 ตัน แบ่งเป็นขยะใหม่ 350 ตัน /วัน และขยะเก่าอีก 650 ตัน/วัน จากบ่อขยะของเทศบาลมานำส่งหน้าโรงไฟฟ้า
ปัจจุบัน SUPER มีโรงไฟฟ้าขยะที่ดำเนินการแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ รวม 6 แห่ง ปริมาณไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟรวม 64 เมกะวัตต์ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะของบริษัทย่อยของ SUPER จำนวน 2 โครงการปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญารวม 18 เมกะวัตต์เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะทยอย COD ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (64-66 ) อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 64)
Tags: SUPER, จอมทรัพย์ โลจายะ, ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้าขยะ