น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 30,000-40,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการเดิม และซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable), โรงไฟฟ้าแก๊ส (LNG To Power) โดยมีความสนใจการลงทุนในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งแหล่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้วงเงิน 10,000-20,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทยังวางงบลงทุน 10 ปี ว้ที่ 1 แสนล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6,409 เมกะวัตต์ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 7,903 เมกะวัตต์ จากนั้นในปี 70 จะเพิ่มเป็น 14,304 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นโครงการที่เซ็น PPA แล้ว โดยจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกำลังการผลิตรวม 11,172 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 78%, โรงไฟฟ้า SPP รวม 2,394 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 17% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 738 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 5%
ทั้งนี้ หากโครงการของบริษัท COD ได้ทั้งหมด คาดว่าจะทำให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มถึงระดับ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 64 คาดว่า EBITDA จะเติบโต 50%
อย่างไรก็ตาม ในปี 73 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนโรงไฟฟ้า Power Generation อยู่ที่ 70% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable) จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 30% โดยจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Hydro Power Projects) ที่สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าใช้งบลงทุนราวหลักแสนล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 50% จากปีก่อนอยู่ที่ 35,833 ล้านบาท เนื่องจากมีการ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 1,494 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ ได้แก่
- โครงการ GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอย COD ในเดือน มี.ค.64 และต.ค.64
- โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ระยะที่ 1-3 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ขนาด 30 เมกะวัตต์ในเดือน พ.ค.นี้ และ 98 เมกะวัตต์จะเปิดดำเนินการในเดือน ต.ค.64
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศโอมาน จำนวน 326 เมกะวัตต์ (DIPWP) ระยะที่ 1 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ จะเปิด COD ในไตรมาส 2/64
- โรงไฟฟ้า GNC และโครงการโซลาร์รูฟท็อปของ Gulf1 ซึ่งปีที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญาณความร่วมมือกับเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ มองเป้าหมายไว้ที่ 21 ราย คาดจะทยอย COD ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีแผนการเซ็น PPA อีก 200 เมกะวัตต์ในปีนี้ และทยอย COD บางส่วนตั้งแต่ไตรมาส 4/64
ในปีนี้ยังรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีโครงการโรงไฟฟ้า Biomass Power Project กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 25 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เปิด COD ตั้งแต่เดือน มี.ค.63, โรงไฟฟ้าลมในทะเล BKR2 และ โครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ PTT NGD ที่บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 40% ในเดือน ธ.ค.63 คาดรับรู้กำไรในไตรมาส 1/63 ประกอบกับรับรู้เงินปันผลที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในหุ้น INTUCH และ SPCG ด้วย
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษา ได้แก่ โครงการ LNG-to-Power ที่ประเทศเวียดนาม,โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนที่ สปป.ลาวจำนวน 3 เขื่อน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 64 และยังศึกษาโอกาสทางด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ยุโรป อเมริกา หรือเวียดนาม
ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็จะมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะเซ็นสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในไตรมาส 2/64 โดยตามแผนงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะมีการถมทะเล 2 ปี และจากนั้นบริษัทจะเข้าไปทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะแล้วเสร็จได้ในปี 68 ส่วนค่าเทียบเรือ F2 จะแล้วเสร็จปี 72, โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) คาดว่าจะเซ็นสัญญา PPP ได้ช่วงไตรมาส 2/64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 64)
Tags: GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ยุพาพิน วังวิวัฒน์, โรงไฟฟ้า