นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบการชำระเงินแบบอีเพย์เมนต์ (E-Payment) และระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ทำให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินและทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ในยุคดิจิทัล เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายจากการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำประชาชนให้นำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายดังกล่าว โดยนายทะเบียนประกันภัย ได้เห็นชอบแบบ ข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล ของบริษัทประกันวินาศภัยไปแล้ว 5 บริษัท ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและความคุ้มครองที่เลือกซื้อ โดยมีเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 200 บาท จนถึง 1,000 กว่าบาทต่อปี และหลายบริษัทอยู่ระหว่างจัดแผนประกันภัยให้สามารถเลือกซื้อได้
สำหรับความคุ้มครองของการประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล สามารถแบ่งออกเป็น 8 แบบความคุ้มครองหลัก ๆ ดังนี้
- แบบที่ 1 การถูกโจรกรรมเงินทางอินเทอร์เน็ต ที่เกิดจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล หรือการถูกโจมตีแบบฟิชชิ่ง โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงิน หรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 2 การถูกกรรโชกทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ตโดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงินเรียกค่าไถ่ที่สูญเสียไป หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 3 การถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตโดยการกระทำจากบุคคลภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาทางจิตวิทยา ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 4 การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตโดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีตามหลักฐานที่เกิดขึ้นและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 5 การคุกคามทางอินเทอร์เน็ตโดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น ดังนี้
- 1) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูลหรือการล้างข้อมูลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล
- 2) ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล
- 3) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูล หรือการล้างข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งระบบการควบคุมและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 6 การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้สั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตและชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายแล้ว แต่ผู้ขายไม่จัดส่งสินค้าให้ภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ได้ชำระให้กับผู้ขายเพื่อซื้อสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 7 การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้ขายและได้มีการจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว แต่ไม่ได้รับเงินค่าสินค้าภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
- แบบที่ 8 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินที่ต้องรับผิดตามกฎหมายตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้
“แม้ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ส่วนบุคคล จะสามารถบริหารจัดการเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายแล้ว อาจจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา การทำประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพของประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”
เลขาธิการ คปภ. กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 64)
Tags: e-Payment, PromptPay, คปภ., ธุรกรรมการเงินออนไลน์, ประกันภัย, ประกันภัยไซเบอร์, พร้อมเพย์, สุทธิพล ทวีชัยการ, อีเพย์เมนต์