นางวรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า “นวัตกรรมการแพทย์” กำลังเป็นธุรกิจที่ทั่วโลกจับตามอง หลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างเยี่ยมชมบริษัท Pfizer ว่า “เมื่อเอาชนะโควิดได้แล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อยุติมะเร็ง” ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์อย่าง “ไบโอเทคโนโลยี” จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากนโยบายนี้จากการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตยารักษามะเร็ง
และในเวลาใกล้เคียงกัน นางเคธี วูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ARK Investment Management ได้กล่าวสนับสนุนให้นักลงทุนกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจ “ไบโอเทคฯ” เพราะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ประเด็นนี้ยิ่งช่วยตอกย้ำความน่าสนใจการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์มากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น ธนาคารทิสโก้มองว่าหากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งรวม 3 ธุรกิจไว้ด้วยกันคือ 1. ไบโอเทคโนโลยีการแพทย์ 2. ดิจิตอลเฮลธ์แคร์ และ 3. Medtech พบว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการแพทย์แบบดั้งเดิม (Conventional Healthcare) อย่างมาก
โดยในช่วงระหว่างปี 2560-2564 กองทุนที่เป็นตัวแทนกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์อย่างกองทุน SPDR S&P Biotech ETF ปรับขึ้นมา 232.17% และกองทุน SPDR S&P Healthcare Equipment ETF ปรับขึ้นมา 213.14% ขณะเดียวกันกองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแพทย์ดั้งเดิมอย่างกองทุน Health Care Select Sector SPDR Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่สะท้อนภาพรวมธุรกิจเฮลธ์แคร์เติบโต 78.62% และกองทุน SPDR S&P Pharmaceutical ETF ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทผลิตยาเติบโต 27.97% (ที่มา:Yahoo Finance ณ วันที่ 3 ก.พ. 64) ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
“ที่ผ่านมาธนาคารทิสโก้ได้แนะนำให้ลูกค้าสับเปลี่ยนการลงทุนจากกองทุนเฮลธ์แคร์แบบดั้งเดิมที่ลงทุนอยู่ มาลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ เพราะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่า และในอนาคตก็มีโอกาสเติบโตอีกมาก เห็นได้จากยอดขายยาที่ผลิตจากนวัตกรรมไบโอเทคเริ่มแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดยาโลกเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Evaluate Pharma คาดว่าในปี 2565 ยาที่มาจากนวัตกรรมไบโอเทคจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 32% เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2555 ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 20% ขณะที่มูลค่าตลาดของธุรกิจดิจิตอลเฮลธ์แคร์ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่าง “Digital และ Medtech” นั้น มีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดย Global Market Insights คาดว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดของธุรกิจดิจิตอลเฮลธ์แคร์จะเพิ่มไปอยู่ที่ 639,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสามารถเติบโตได้กว่า 28.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”
นางวรสินีกล่าว
สำหรับกองทุน “นวัตกรรมการแพทย์” ที่ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้าเข้าไปลงทุนมีทั้งสิ้น 3 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไชน่า เฮลท์แคร์ อินโนเวชั่น ฟันด์ (UCHI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในธุรกิจเฮลธ์แคร์ ของประเทศจีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมด้านเฮลธ์แคร์ (Healthcare Innovation) ของประเทศจีน เช่น การพัฒนาและค้นคว้าด้านเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ การบริหาร สถานพยาบาล การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบไอทีด้านการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่ให้ความสนใจ “ประเทศจีน” เป็นอันดับต้นๆ เพราะธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ของจีน มีการเติบโตที่โดดเด่นอย่างมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์จีนมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 10% ขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 3%* อีกทั้ง ปัจจุบันทางประเทศจีนยังได้ทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ยาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีการอนุมัติตัวยาใหม่ๆ ต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดในปี 2562 ได้มีการอนุมัติตัวยาแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค (Diagnostics) และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences Tools) ทั่วโลกผ่านกองทุน Polar Capital Funds plc – Biotechnology ชนิดหน่วยลงทุน I US Dollar (กองทุนหลัก)
และ 3. กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุน CS (Lux) Global Digital Health Equity ชนิดหน่วยลงทุน IB USD (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 64)
Tags: กองทุนเปิด, การลงทุน, ธนาคารทิสโก้, นวัตกรรมการแพทย์, วรสินี เศรษฐบุตร