นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตลาดทุนยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย แม้ว่าหลังจากเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน จะมีผลกระทบต่อตลาดทุน และบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น
ขณะที่การผลักดันการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจในประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เริ่มมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และการส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น โดยภาครัฐเริ่มดำเนินการและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลักดันสร้างความยั่งยืน
ด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับตลาดทุนไทย ยังคงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น การจัดตั้ง SPAC (Special Purpose Acquisition Company) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการควบรวมกิจการต่างๆ เข้ามา โดยผ่านการระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการลงทุนใหม่ที่เข้ามาสร้างความสนใจให้กับตลาดทุนไทย และทำให้นักลงทุนมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดทุนไทยยังเป็นหนึ่งในช่องทางระดมทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถระดมทุนไปต่อยอดสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ และเป็นช่องทางหนึ่งของนักลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในการนำเงินมาลงทุน เพื่อสร้างความมั่งให้กับนักลงทุนได้
นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ILINK) กล่าวว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย แต่ทำให้เทคโนโลยีมีความสำคัญมากขึ้น และมีการเร่งตัวในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัท ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อม โดยที่ บริษัทยังคงต้องมีการช่วยเหลือและเจรจากับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาให้ลูกค้ายังสามารถใช้บริการกับบริษัทต่อไปได้ ประกอบกับบริษัทเองก็เป็นโอกาสในการที่ควบคุมต้นทุน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง และกลับมาดูจุดที่เป็นข้อบกพร่องของบริษัท และหาแนวทางในการปรับปรุงใหเร็วที่สุด เพื่อทำให้บริษัทยังมีศักยภาพ และมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี
ขณะเดียวกัน บริษัทยังต้องมองไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยการหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา Pain Point ให้กับลูกค้า และการใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์สร้างบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำให้มีบริการใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทมี และทำให้บริษัทสามารเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งเป้ารายได้เติยโตเฉลี่ย 30-40% ต่อปี
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทยังคงเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งคาดว่าภายในอีก 20-30 ปี ข้างหน้าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและแก๊ส จะเห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานประเภทอื่นอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทจะต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อบริหารความเสี่ยงและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
แม้ว่าในปัจจุบัน ธุรกิจของบริษัทยังเกี่ยวข้องกับน้ำมันและแก๊ส ซึ่งค่อนข้างมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีความผันผวนค่อนข้างมากในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเห็นได้จากหลังจากที่โควิด-19 เริ่มแพร่รระบาดในช่วงต้นปี 63 ราคาน้ำมันที่เคยอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญ/บาร์เรล ปรับตัวลดลงเหลือ 20 เหรียญ/บาร์เรล อย่างรวดเร็ว และทยอยฟื้นกลับมาที่ระดับกว่า 60 เหรียญ/บาร์เรลในปัจจุบัน ทำให่บริษัทเล็งเห็นถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อพร้อมรับกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของฐานะทางการเงิน ที่บริษัทเน้นการสร้างสภาพคล่องให้มาก
รวมไปถึงการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย และการชะลอแผนลงทุนในบางโครงการออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ ส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ โดยเฉพาะการลดต้นทุน ที่ตั้งเป้าลดต้นทุนของบริษัทลงเหลือ 25 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ภายในปี 68 จากปัจจุบันต้นทุนของบริษัทอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองเรื่องการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันที่รวดเร็วมาเกือบ 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ยังเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่จะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างๆ ออกมามาก ซึ่งจะมีผลกดดันต่อทิศทางราคาน้ำมันในระยะต่อไป อย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา หลังจากที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาในระดับสูง ผู้ผลิตน้ำมันหลายประเทศต่างผลิตน้ำมันออกมามาก ทำให้ซัพพลายน้ำมันในตลาดล้น ส่งผลกระทบให้ทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวลดลง กระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันในภาพรวมค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทยังคงระมัดระวัง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญยังคงเป็นความยั่งยืนของลูกค้า ซึ่งถือเป็นความยั่งยืนของธนาคารด้วย โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพทางการเงินของลูกค้า ให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น พร้อมกับปรับการบริการของพนักงานที่หันมาช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับลูกค้าแทนการขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามช่วยในการบริหารจัดการงานต่างๆ ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าแก้ปัญหาของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้และการลดภาระหนี้ของธุรกิจที่เป็นปัญหาในปัจจุบันหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงการให้ความรู้ในการสร้างสภาพคล่อง และรักษาสมดุลของธุรกิจ เพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ในภาวะที่มีวิกฤติเข้ามากระทบ
นอกจากนี้ ยังต้องหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาวของภาคธุรกิจให้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังมีความสามารถในการแข่งขันไม่มากนัก และยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในปัจจุบัน ขณะที่ภาคครัวเรือนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้ที่สูงในปัจจุบัน จะต้องพยายามหาทางสร้างรายได้เพิ่ม และมีการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมมากขึ้น เพื่อช่วยฟื้นฟูการบริโภคในประเทศให้กลับมา ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่พึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอกมาก รวมทั้งจะต้องพัฒนาโครงสร้างและทรัพยากรดิจิทัลสำหรับอนาคต เพื่อทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและมีการดำเนินงานต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำลง
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจทุกภาคส่วน แม้แต่บริษัทเองที่ทำธุรกิจให้บริการโทรคมนาคม แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้งานบริการของบริษัทจะพิ่มสูงขึ้นถึง 30-40% แต่รายได้รวมของบริษัทลดลง 5% เนื่องมาจากกำลังซื้อของลูกค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แม้จะมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นได้ และต้องมีการให้โปรโมชั่นส่วนลดกับลูกค้าเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อย่างเช่น การทำงานและการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่เข้ามาใช้กันมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเร่งนำเทคโนโลยีที่วางแผนไว้ในอนาคตมาปรับใช้ในทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
โดยในปัจจุบัน บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเป็น Digital Service แทนที่จะเป็นผู้ให้บริหารเครือข่ายโทรศัพท์ ผ่านการทำ Digital Platform ที่จะเข้ามาต่อยอดการเติบโต และเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ เพราะการให้บริการแค่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียวในปัจจุบันนั้นเริ่มมีรายได้ที่คงทรงตัว และไม่สามารถเติบโตได้เหมือนอย่างในอดีตแล้ว การที่จะก้าวข้ามผ่านสิ่งเดิมที่บริษัทเคยทำ ถือว่ายังมีความท้าทาย แต่จะเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสให้กับบริษัทได้ในอนาคต หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 64)
Tags: ตลาดทุน, พงศธร ทวีสิน, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เศรษฐกิจ