สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามในกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.8 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,719.8 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 1.3%
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 28.2 เซนต์ หรือ 1.08% ปิดที่ 25.911 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2 ดอลลาร์ หรือ 0.17% ปิดที่ 1,200.3 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 19.10 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 2,360.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.642% ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
ส่วนดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.27% สู่ระดับ 91.6762 เมื่อคืนนี้
การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค.
ส่วนมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 83.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 76.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.5
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 64)
Tags: COMEX, ทองคำนิวยอร์ก, ราคาทอง, ราคาทองคำ