สัมภาษณ์พิเศษ: ตอบตรง !! “ท๊อป-จิรายุส” แห่ง BITKUB วิพากษ์ประเด็นร้อนเกณฑ์คุมนักเทรดคริปโทฯ

 

เป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในวงการ Cryptocurrency เมืองไทย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยตัวร่างกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในตลาด Cryptocurrency ในประเทศไทย พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ไปจนถึงวันที่ 27 มี.ค.64

สาระสำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในตลาด Cryptocurrency ที่เป็นข้อถกเถียงกันมากนั่นคือ คุณสมบัติด้านฐานะการเงินของผู้ลงทุน จะต้องมีรายได้ต่อปีไม่นับรวมกับคู่สมรส ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีสินทรัพย์สุทธิ (net worth) ตั้งแต่ 10 ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัยประจำ หรือมีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล(port size) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่คุณสมบัติด้านความรู้ ต้องมีประสบการณ์ลงทุนใน Cryptocurrency หรือมีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็น Professional ตามที่ ก.ล.ต.กำหนด ในกรณีผู้ลงทุนลักษณะอื่นที่ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดข้างต้นต้องลงทุนผ่านผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Fund manager) เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้การเปิดบัญชีใช้บริการใหม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อน เป็นต้น

ก.ล.ต.ห่วงมือใหม่วัยเยาว์โดดเข้าวงการ Cryptocurrency

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า โดยส่วนตัวเข้าใจเจตนาของ ก.ล.ต. ที่ต้องการเข้ามาดูแลและป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่เข้ามาในตลาด Cryptocurrency โดยเฉพาะผู้ลงทุนมือใหม่และผู้ลงทุนที่มีอายุน้อย หลังจากช่วงต้นปี 64 พบว่ากระแสความนิยม Cryptocurrency ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในวงการเป็นจำนวนมาก

ในบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต.แสดงความเป็นห่วงหากกรณีผู้ลงทุนกลุ่มนี้มีความรู้ไม่มากเพียงพอก็อาจทำให้เกิดความเสียหายจากการลงทุนได้ ขณะที่การทำเฮียริ่งครั้งนี้เปรียบเสมือนเป็นการโยนหินถามทางเท่านั้นยังไม่ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็ทางการ เบื้องต้นคาดว่าในปลายเดือน มี.ค.64 ก.ล.ต.น่าจะมีความคืบหน้าอีกครั้งหลังจากได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปแล้ว

หวั่นเกณฑ์ใหม่หากอิงตามเฮียริ่งอาจดันธุรกรรมไหลเข้าโลกใต้ดิน

นายจิรายุส ยอมรับว่าไม่เห็นด้วยค่อนข้างมากกับร่างหลักเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในตลาด Cryptocurrency โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีรายได้ต่อปีไม่นับรวมกับคู่สมรสตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงต้องมีประสบการณ์ลงทุนใน Cryptocurrency พบว่ามีสัดส่วนผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวน้อยมาก เป็นอุปสรรคให้ผู้ลงทุนคนไทยไม่สามารถเข้ามาซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่ถูกกฎหมายจากการได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.เป็นการสะท้อนถึงการสร้างกำแพงสูงไม่ให้คนข้ามมาได้ และต้องการลดกิจกรรมในตลาด Cryptocurrency ในประเทศไทย

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ยิ่งสร้างกำแพงสูงมากเท่าใดก็จะยิ่งผลักดันให้ผู้ลงทุนคนไทยหันไปซื้อขาย Cryptocurrency ผ่านแพลตฟอร์มของต่างประเทศที่ไม่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่าธุรกรรมต่างๆ ในตลาด Cryptocurrency ในประเทศไทยกำลังจะไหลเข้าสู่โลกใต้ดิน เข้าไปอยู่ในตลาดมืด ที่ไม่มีแม้แต่การตรวจสอบระบบอย่างถูกต้อง ,ไม่มีการปกป้องผู้ลงทุน เพราะปัจจุบันโลกถูกเชื่อมกันหมด มีแค่โทรศัพท์มือถือที่เชื่อมกับอินเตอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้แล้ว ดังนั้นจึงมองว่าแม้จะมีกำแพงจะสูงแค่ไหน แต่ส่วนตัวก็มองว่าคนก็จะอ้อมกำแพงอยู่ดี

ขณะนี้ปริมาณการซื้อขาย Cryptocurrency พุ่งสูงขึ้นไปถึงเฉลี่ยวันละ 4,000 ล้านบาท จากปี 66 อยู่ที่ราว 400 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นอัตราเติบโตกว่า 1,000% จากความสนใจของผู้ลงทุนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนตัวมองว่าหากกฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่ไดปรับเปลี่ยนจะส่งผลให้ปริมาณซื้อขายกว่า 4,000 ล้านบาทต่อวันย้ายไปสู่แพลตฟอร์มต่างประเทศแทบทั้งหมด ไม่ได้ลดลงตามเจตนาของ ก.ล.ต.เพราะขณะนี้ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ Sunrise Industry ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเฮียริ่งที่เป็นหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ลงทุนในตลาด Cryptocurrency มองว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาไม่ตรงวัตถุประสงค์ของ ก.ล.ต.ที่ต้องการปกป้องความเสียหายของผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผล และยังเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรม Cryptocurrency ในประเทศไทย ทำร้ายระบบการเงิน ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกที่กำลังพัฒนาในประเทศไทย ส่งผลให้เม็ดเงินเหล่านี้ในตลาด Cryptocurrency จะไหลออกนอกประเทศไทยมากขึ้นและเข้าสู่โลกใต้ดิน และที่สำคัญคือในอนาคตประเทศไทยก็จะสูญเสียโอกาสจากการเก็บภาษีที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกด้วย”

นายจิรายุส กล่าว

กังวลไทยตกเป็นเมืองขึ้นเทคโนโลยีโลกการเงิน

นายจิรายุส กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งในผลกระทบสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกกฎหมายและเป็นสัญชาติไทยจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางด้านเทคโนโลยีของวงการการเงินในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันหลายวงการประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีไปแล้ว ยกตัวอย่างวงการสื่อสาร เช่น Line ,Facebook ,Instagram ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยไปอย่างมาก ที่สำคัญ คือ บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ไม่ได้จ่ายเงินภาษีหรือสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างที่ควรจะเป็นด้วย

รวมถึงด้าน Entertainment ที่มีทั้ง Netflix ,Youtube ,Line TV และแม้ว่าประเทศไทยจะมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว แต่ก็ยังเป็นเมืองขึ้นของ Agoda , Traveloka ยังไม่นับรวมกับ Grab, Shopee, Lazada ซึ่งแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก็เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น

นายจิรายุส กล่าวว่า วันนี้คนไทยแทบจะไม่ใช้แอพพลิเคชั่นที่เป็นสัญชาติไทยแล้ว ยกเว้นแต่วงการการเงิน เช่น แอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือของ Bitkub ที่ใช้กันเป็นจำนวนมาก แต่หากแอพพลิเคชั่นการเงินของต่างชาติมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และสามารถครองฐานผู้ใช้บริการคนไทยะขยายตลาดในไทยอย่างจริงจัง ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างการเข้าบุกตลาดในประเทศไทยของ Grab และ Airbnb ที่แม้ว่าตอนแรกจะไม่ถูกกฎหมายของไทย แต่มีความได้เปรียบจากฐานของผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายกฎหมายในประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อยู่ดี

แนะกระจายชุดความรู้สร้างภูมิคุ้มกันผู้ลงทุน

นายจิรายุส กล่าวว่า ส่วนตัวมีมุมมองว่าหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็นนำมาใช้ปกป้องผู้ลงทุนหน้าใหม่ในตลาด Cryptocurrency คือต้องให้ความรู้กับผู้ลงทุน เพราะเป็นวิธีการที่มั่นคงและยั่งยืนมากที่สุด แต่ไม่ควรสร้างกำแพงที่เป็นการผลักให้ตลาด Cryptocurrency ของประเทศไทยจะไปเติบโตในต่างประเทศ ผลตามมาคือรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้ ,เงินไหลออกนอกประเทศ และสุดท้ายคือไม่สามารถควบคุมความเสียหายกรณีผู้ลงทุนเข้าไปซื้อขายในแพลตฟอร์มที่ผิดกฎหมาย หรืออาจเสี่ยงโดนหลอกจากแชร์ลูกโซ่

ณ วันนี้การเข้าถึงชุดข้อมูลที่เป็นความรู้การลงทุนในตลาด Cryptocurrency ยังไม่เท่าเทียมกัน แต่หากมีการวางแนวทางขยายและกระจายการให้ชุดข้อมูลที่เป็นความรู้ในวงกว้างแบบเดียวกัน เมื่อผู้ลงทุนเข้าใจและมีทัศนคติการลงทุนที่ถูกต้องในท้ายที่สุดแล้วก็จะสามารถนำชุดข้อมูลความรู้ดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง เพราะกระบวนการตัดสินใจลงทุนเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ที่ https://bit.ly/3knvOOk​ ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2564 นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังจัดการเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ “สำนักงาน กลต.” ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 – 16.00 น.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top