นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลื่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ ทั้งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของซิโนแวก แต่ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงยังฉีดวัคซีนของซิโนแวกตามปกติ แต่รายละเอียดทั้งหมดต้องรอกระทรวงสาธารณสุขแถลงความชัดเจนอีกครั้ง
รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การเลื่อนการฉีดวัคซีนครั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะมีรายงานข่าวว่า ประเทศเดนมาร์กและ 6 ชาติอียู สั่งระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากพบว่ามีผู้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้
- ด่วน! เดนมาร์กระงับฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ หลังมีรายงานทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ออสเตรียระงับฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตที่มีปัญหา หลังพบผู้เสียชีวิตหนึ่งราย
- แอสตร้าฯเผยวัคซีนที่ถึงไทยรอตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพก่อนนำออกใช้ช่วงกลางมี.ค.
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงด่วน เกี่ยวกับประเด็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเช้าวันนี้
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า คณะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขชะลอการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนก้าให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบางส่วน เพื่อรอการตรวจสอบหลังจากหลายประเทศในยุโรประงับการใช้วัคซีนของแอสตราเซนเนก้าชั่วคราว เพราะมีผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำและพบผู้เสียชีวิต 1 รายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ วัคซีนแอสตราเซนเนก้าที่ไทยจะฉีดผลิตจากโรงงานในเอเซียไม่ได้ผลิตที่ยุโรป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอออกไป 5-7 วัน หรือ 2 สัปดาห์ไม่ได้เกิดผลกระทบมากนัก ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญจึงมีมติให้ชะลอออกไปก่อน
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนก้าในประเทศแถบยุโรป 3 ล้านโดส เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 ราย เสียชีวิต 1 ราย เท่ากับโอกาสการเกิด 7 รายในล้านราย จึงต้องมีการสืบสวนว่าอาการนี้เกิดขึ้นในภาวะปกติ หรือฉีดวัคซีนแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติหรือไม่ หากพบว่าฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะนี้มากกว่าปกติ ก็ต้องไปตรวจสอบว่าวัคซีนนี้ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้อย่างไร
ศ.นพ.ยง ได้อธิบายอาการแข็งตัวของลิ่มเลือดว่า อาการนี้จะพบในกลุ่มคนเชื้อชาติแอฟริกันและยุโรปมากกว่าเอเชียถึง 3 เท่า และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ในยามปกติ และที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ที่ข้องกับการฉีดวัคซีนใดๆ
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย มีเป้าหมายคือวัคซีนที่จะให้กับประชาชนจะต้องปลอดภัย ดังนั้นเมื่อมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนในประเทศเดนมาร์ก ทำให้คณะแพทย์และทีมงานฉีดวัคซีนจึงได้พิจารณาร่วมกัน และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรีบฉีด ควรรอฟังผลการสืบค้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ชี้แจงว่า ทางบริษัทแอสตราเซนเนก้าได้ส่งวัคซีนให้กับ 17 ประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งพบว่าที่เดนมาร์กมีผู้ป่วย 1 รายที่เสียชีวิต และมีอีกหลายรายที่เกิดลิ่มเลือด ทางกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กจึงได้ชะลอการฉีดวัคซีนออกไป 2 สัปดาห์ เพื่อไปสืบค้นหาสาเหตุ ซึ่งยังมีอีกหลายประเทศในกลุ่มยุโรปได้ชะลอการฉีด เพื่อรอผลการสืบค้นของเดนมาร์ก และรอผลตรวจสอบจากองค์กรยาของสหภาพยุโรป หรือ European Medicines Agency (EMA) ก่อน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า แม้ในขณะนี้จะมีการชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้า แต่ในส่วนของวัคซีนของซิโนแวก ยังเดินหน้าฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ ซึ่งวัคซีนซิโนแวกที่ได้รับมา 2 แสนโดส ได้ฉีดไปแล้ว 4 หมื่นโดส
ศ.พญ.กุญกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า การแข็งตัวของลิ่มเลือด ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหากับวัคซีนใดๆ แต่ในเมื่อเป็นความกังวลใจจึงได้ให้มีการสืบสวนก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, คณะรัฐมนตรี, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19