ผลการสำรวจล่าสุดโดย FICO บริษัทซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก พบว่า คนไทย 69% นิยมใช้ช่องทางดิจิทัลในการติดต่อกับธนาคารเรื่องปัญหาทางการเงิน
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนสูงนั้นหมายความว่า คนไทย 44% นิยมติดต่อเรื่องปัญหาทางการเงินผ่านแอปโมบายแบงก์กิงมากกว่า ขณะที่ 14% ใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิง
Aashish Sharma หัวหน้าฝ่ายวัฐจักรความเสี่ยงและบริหารจัดการด้านการตัดสินใจของ FICO ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ความเสี่ยงในการติดเชื้อและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้น ทำให้คนนิยมติดต่อทำธุรกรรมที่สาขาลดลงในปีที่แล้ว ซึ่งเร่งให้ช่องทางดิจิทัลแบงก์กิงเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก”
คุณ Sharma เปิดเผยว่า ลูกค้าบางรายอยากติดต่อเรื่องปัญหาทางการเงินผ่านบริการออนไลน์อัตโนมัติมากกว่า เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกอับอายจากการที่ต้องคุยเรื่องหนี้คงค้างต่อหน้าเจ้าหน้าที่
ขณะเดียวกัน คนไทย 35 % นิยมติดต่อกับธนาคารรายหลักรายเดียวมากกว่า ขณะที่อีก 40% เปิดเผยว่าตน ‘ค่อนข้างเห็นด้วย’ ว่าต้องการทำเช่นนี้
เมื่อถามว่าต้องการลองใช้บริการของธนาคารคู่แข่งหรือบริษัทฟินเทคหรือไม่ คนไทย 38% เผยว่าตนมีแนวโน้มในการลองใช้บริการของคู่แข่ง ขณะที่อีก 40% ค่อนข้างเปิดรับความคิดดังกล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลในการเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่ง ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 50% เปิดเผยว่า เหตุผลอันดับหนึ่งคือบริการที่ตรงกับความต้องการของตนเองมากขึ้น รวมถึงอำนาจในการควบคุมบริการธนาคารดิจิทัลด้วยตนเอง ไม่ว่าจะในเรื่องของการดูประวัติธุรกรรม ปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคล เปลี่ยนรหัสผ่าน และฟังก์ชันอื่น ๆ ในลักษณะนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 64)
Tags: FICO, ดิจิทัล, ธนาคาร, ผลสำรวจ, สมาร์ทโฟน, โมบายแบงก์กิ้ง