- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 26,540 คน (+39)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 21 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 13 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 5 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 25,946 คน (+95)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 509 คน
- เสียชีวิตสะสม 85 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 21 ราย แบ่งเป็น สมุทรสาคร 11 ราย ปทุมธานี 3 ราย ตาก 3 ราย กรุงเทพ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย, จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 13 ราย แบ่งเป็นสมุทรสาคร 8 ราย ปทุมธานี 5 ราย, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 5 ราย มีประเทศต้นทางจากสวีเดน 2 ราย เนปาล 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 26,540 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 8,935 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 14,722 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,883 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 25,946 ราย เพิ่มขึ้น 95 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 85 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ได้มีการประชุมวีดิโอ คอนเฟอร์เรนซ์กับจังหวัดสมุทรสาคร โดยได้มีการรายงานข้อมูลของจังหวัดที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงมีการคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น โรงงาน ตลาด และชุมชน รวม 1,806 แห่ง ซึ่งล่าสุดสามารถตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้ว 1,540 แห่ง มีประชาชนที่ได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกแล้วกว่า 1.12 แสนราย มีอัตราการติดเชื้อ 0.87%
“นับตั้งแต่ 26 ธ.ค.63 ถึง 8 มี.ค.64 จังหวัดมีเป้าหมายคัดกรองเชิงรุก 1,806 แห่ง ตรวจคนไปแล้ว 112,595 ราย หรือตรวจไปแล้วกว่า 90% ทางจังหวัดเชื่อว่าภายในสัปดาห์นี้จะตรวจครบ 100% แน่นอน ทำให้จังหวัดมองว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้”
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนมาตรการ Bubble & Sealed ในพื้นที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร ที่มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่ในพื้นที่กักกันนี้ 50,474 ราย พบว่ามีการติดเชื้อโควิด 10% อย่างไรก็ดี แม้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กักตัวดังกล่าวจะได้รับการกักตัวจนครบกำหนดกำหนดและถือว่าปลอดเชื้อแล้ว แต่ทางจังหวัดได้มีการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Anti Body) อีก ซึ่งพบว่าผู้ที่อยู่ใน Bubble & Sealed นี้กว่า 70% มีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้มีความมั่นใจว่าบุคคลเหล่านี้เมื่อกลับออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะไม่มีการแพร่เชื้อให้กับบุคคลภายนอกอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน จ.สมุทรสาคร จะยังคงมาตรการการ์ดสูงไว้ต่อไป แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการคง รพ.สนามไว้ การเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน รวมทั้งจะมีการเข้าไปตรวจหาเชื้อซ้ำในโรงงานต่างๆ เป็นต้น
“ผู้ที่อยู่ใน Bubble & Sealed นี้ 70% มีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้จังหวัดมั่นใจว่าเมื่อมาตรการ Bubble & Sealed ยุติแล้ว คนเหล่านี้จะได้กลับบ้าน กลับสู่ชุมชน และจังหวัดจะมีมาตรการดูแลต่อเนื่องต่อไป”
พญ.อภิสมัยกล่าว
นอกจากนี้ สำหรับแผนการกระจายวัคซีนในจังหวัดสมุทรสาครที่ได้รับมา 70,000 โดส ยังสามารถกระจายวัคซีนได้รวดเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจากการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีผู้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงภายหลังการได้รับวัคซีน ดังนั้นจากการรายงานข้อมูลในภาพรวมดังกล่าว ทำให้ จ.สมุทรสาคร เตรียมจะเสนอมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม ให้แก่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้พิจารณาในวันที่ 19 มี.ค.นี้
“จ.สมุทรสาคร ได้เตรียมผ่อนคลายพื้นที่จากแดง เป็นส้ม หรือเหลือง รวมทั้งบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น ในตลาด ร้านค้า ชุมชน ผู้ขับรถ อาจเสนอมาตรการผ่อนปรนในการเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งต้องนำเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจในสัปดาห์หน้า ก่อนเข้าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่เพื่ออนุมัติวันที่ 19 มี.ค.นี้”
พญ.อภิสมัยระบุ
อย่างไรก็ดี ศบค.เตรียมพิจารณามาตรการผ่อนคลายทั่วประเทศ เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค.) แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่าต้องเป็นมาตรการที่ปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นภายหลังมีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อที่จะนำไปสู่การเปิดประเทศซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ เป็นต้นไป
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 118,155,658 ราย เสียชีวิต 2,622,036 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 29,801,506 ราย อันดับสอง อินเดีย 11,261,470 ราย อันดับสาม บราซิล 11,125,017 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,342,474 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 4,228,998 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 116
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์การได้รับวัคซีนของประชากรทั่วโลก ล่าสุด ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิดไปแล้วกว่า 300 ล้านโดส จาก 114 ประเทศ มีการฉีดวัคซีน 7.93 ล้านโดสต่อวัน โดยทวีปยุโรป มีอัตราการฉีดวัคซีนแล้ว 22% ทวีปอเมริกาเหนือ 31% และทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง 38% ซึ่งถือว่าสามารถกระจายการรับวัคซีนได้ค่อนข้างรวดเร็ว จึงทำให้คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการรายงานผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายแล้ว 33,621 ราย โดยพบอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้น 2,984 ราย หรือคิดเป็น 8.8% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ชะลอตัวลงจากเดิม ซึ่งสถานการณ์ในประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่ สธ.กำหนดไว้ โดยในรอบสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ใน 9 จังหวัด ขณะที่มี 14 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ และอีก 52 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในรอบ 7 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมาตรการป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดยังคงเข้มข้นเช่นเดิม
“การควบคุมการแพร่ระบาดขณะนี้ดีมากขึ้นกว่าช่วงแรกๆ ที่มีการระบาด แม้จะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่มากนัก มีการสอบสวนโรคให้รู้ที่มาที่ไป และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น” นพ.เฉวตสรร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, เฉวตสรร นามวาท, โควิด-19