นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-อินเดีย และให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับถ้อยคำตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงสิทธิการบินต่าง ๆ ได้แก่ ใบพิกัดเส้นทางบิน สิทธิความจุ และการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการมากขึ้น โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญดังนี้
1. ใบพิกัดเส้นทางบิน เพิ่มกระบี่ สมุย และอู่ตะเภา ในเส้นทางบินของอินเดีย และเพิ่มเงื่อนไขว่าจุดระหว่างทางหรือจุดพ้นใด ๆ ที่ไม่ได้ระบุในใบพิกัดเส้นทางบิน สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินได้ โดยไม่ใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5
2. สิทธิความจุ เพิ่มความจุให้กับสายการบินที่กำหนดอีกฝ่ายละ 6,150 ที่นั่ง/สัปดาห์ (จากเดิม 26,354 ที่นั่ง/สัปดาห์) โดยมีเงื่อนไขว่าจำนวนความจุที่นั่งเพิ่มขึ้นดังกล่าว สายการบินของไทยสามารถทำการบินได้สูงสุด 7 เที่ยว/สัปดาห์ และจะสามารถใช้สิทธิที่ตกลงเพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อสายการบินของอินเดียสามารถทำการบินได้ถึงร้อยละ 80 ของสิทธิที่มีอยู่ปัจจุบัน (สิทธิที่มีอยู่ปัจจุบันคือ 26,354 ที่นั่ง/สัปดาห์)
3. การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน เพิ่มเงื่อนไขการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันสำหรับเส้นทางภายในประเทศ โดยภาคีคู่สัญญาสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในเส้นทางภายในประเทศได้
ทั้งนี้ การปรับปรุงสิทธิการบินต่าง ๆ ข้างต้น จะทำให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการ และสามารถเพิ่มบริการระหว่างกันได้มากขึ้น ตลอดจนเป็นการขยายเครือข่ายการบินและการเชื่อมต่อไปยังจุดอื่น ๆ ได้ อันเป็นการส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งทางอากาศระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และบริการระหว่างทั้งสองประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 64)
Tags: กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงคมนาคม, สายการบิน, สิทธิการบิน