นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประเมิน ITA ของไทยปี 2563 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน จำนวนหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1,095 หน่วยงาน หรือ 13.19%
ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รายงานถึงตัวชี้วัดที่ฉุดรั้งให้ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในภาพรวมระดับประเทศ คือ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ครบถ้วน
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอแนะเชิงกลยุทธ์ 6 ข้อเร่งด่วน เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการป้องกันการทุจริตอย่าง ประกอบด้วย 1) เร่งให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการผ่านระบบสารสนเทศ 2) กำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
3) สนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (User Interface) ที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 4) สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ
5) สนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน และ 6) กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการให้บริการสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน
อนึ่ง หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีจำนวน 8,303 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลถึง 1,301,665 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา 29.36% สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. รับทราบการแต่งตั้ง 6 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐ ประกอบด้วย
- 1.คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อจัดทำแนวทาง มาตรการ เสริมสร้าง และประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งส่งเสริมและขับเคลื่อนธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
- 2.คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (CPI)
- 3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ บูรณาการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว เช่น ติดตามเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) คดีการเรียกรับเงินกรณีการทำบัตรประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรหมายเลข 0)
- 4.คณะอนุกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมผลิตเนื้อหาและปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์เดิมเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและอันตรายของการทุจริต ปลูกฝังค่านิยมสุจริต สร้างบุคคลต้นแบบ ส่งเสริมและเสริมสร้างให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการป้องกันเฝ้าระวังการทุจริตและร่วมสร้างกลไกป้องกันการทุจริต
- 5.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.)ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติราชการของ ศปท. ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- 6.คณะอนุกรรมการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ จะกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อีกทั้ง มีการจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นการเฉพาะ โดยตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.63-18 ม.ค.64 รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 297 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 110 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 187 เรื่อง
รวมทั้งเจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่จำนวน 400 ราย ดำเนินการเสร็จแล้ว 300 ราย ที่เหลือ 100 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยให้รัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดบัญชีดำ (Black List) ให้ชัดเจน ห้ามทำธุรกรรมกับภาครัฐ สำหรับบริษัทห้างร้าน นิติบุคคล ที่มีสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและสนับสนุนการทุจริตในภาครัฐ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เป็นผลงานให้สังคมทราบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 64)
Tags: ITA, การทุจริต, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ความโปร่งใส, ป.ป.ช., ศอตช., อนุชา บูรพชัยศรี