นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นในปีนี้จากความคืบหน้าของวัคซีนต้าน Covid-19 ซึ่งรับการอนุมัติและแจกจ่ายในหลายประเทศ โดยในปัจจุบัน วัคซีนต้าน Covid-19 ได้ถูกแจกจ่ายไปแล้วกว่า 279 ล้านโดสทั่วโลก โดยคาดว่าวัคซีนเหล่านี้น่าจะสามารถแจกจ่ายให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) และยับยั้งการระบาดโดยธรรมชาติได้ในปีนี้ ทำให้นักลงทุนลดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ลงไปมาก
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นโลกภาพรวมขณะนี้เข้าสู่ช่วงการปรับฐาน หลังจากขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่จุดต่ำสุดช่วงการแพร่ระบาด Covid-19 ปัจจุบัน นักลงทุนหลายคนกังวลฟองสบู่ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น สะท้อนมุมมองเงินเฟ้อเร่งตัวในอนาคตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ
การเพิ่มขึ้นของ Yield กดดันมุมมองหุ้นเติบโตโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเนื่องจากราคาที่เพิ่มขึ้นไปมาก ทำให้ Earnings Yield Gap ผลต่างระหว่างปันผลตอบแทนคาดหวังเปรียบเทียบกับ Bond Yield แคบกว่าหุ้น Value ที่มี Dividend สูง นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นที่ราคา Laggard อยู่ จึงมีการ Switch หรือ Rotate กลุ่มลงทุนหรือเรียกว่ามีการสลับจากหุ้น New Economy Theme ที่ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมากลับไปสู่หุ้น Old Economy Theme ที่ระดับราคายังต่ำอยู่และยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นมาก
“เรามองว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน โดยเฉพาะถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯผ่านเป็นกฏหมาย โดยมองว่าอาจจะผ่านในกลางเดือนนี้และวงเงินแม้ว่าจะลดลงจาก 1.9 ล้านมาที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นวงเงินกระตุ้นที่สูงถึง 7-9 % ต่อ GDP หุ้นเติบโตคุณภาพดีหลายๆ ตัวอาจจะมีงบการเงินออกมาดีติดต่อกันสัก 2-3 ไตรมาส (ไตรมาส 4/63 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1-2/64) มูลค่าที่ตลาดมองว่าแพงมากในปัจจุบันจะเริ่มแพงลดลงตามรายได้/กำไรที่เติบโตตามทัน บลจ.วรรณ มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในโซนขาขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวดีขึ้นมากในปีนี้ และมีมุมมองที่ Bullish หุ้นค่อนข้างมาก”นายพจน์ กล่าว
ในส่วนของคำแนะนำการลงทุน บลจ.วรรณ ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้เปิดโอกาสการเข้าถึงบริษัทดังกล่าว ทั้งที่เป็นผู้ชนะทั้งในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา และเป็น Megatrend จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น
โดยยังคงคำแนะนำลงทุน กองทุนเปิด วรรณ ดิสคัพเวอรี่ (ONE-DISC) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Baillie Gifford Worldwide Discovery Fund เน้นลงทุนในบริษัทที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ (Immaturity) หรือสินค้า/บริการ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากในตลาดโลก แต่มีแนวโน้มมีความสามารถในการแข่งขัน (Emerging Competitive Advantage) เหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และอาจจะขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural Change) ดังกล่าวข้างต้นทำให้หุ้นหลายตัวใน ONE-DISC ได้รับประโยชน์จาก Trend นี้ นอกจากนี้เห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากหุ้น Mega-Large Cap ที่ราคาขึ้นมาสะท้อนแนวโน้มกำไรหลายปีล่วงหน้า ไปยังหุ้น Mid-Small Cap ที่แนวโน้มเติบโตสูงกว่าแต่ยังไม่สะท้อนในราคาหุ้นล่วงหน้ามากนัก
สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ระยะสั้นมีแนวโน้มที่หุ้น Old Economy จะกลับมา Outperform ซึ่งหุ้นบริษัทจดทะเบียนของไทยมีลักษณะนั้น ช่วงที่ผ่านมาระดับราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมุมมองการเติบโตด้อยกว่าหุ้น New Economy ทั้งนี้ หากการเดินหน้าฉีดวัคซีนทั่วโลกประสบผลสำเร็จช่วยให้กลับมาเปิดประเทศได้เร็วขึ้นจากเดิมที่มองปลายปี 64 อย่างเร็ว อาจจะมีการทำ Travel bubble กันตั้งแต่กลางปีนี้ ช่วยหนุนให้ทุกอย่างเริ่มกลับเป็นปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยให้กำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะดีกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในการลงทุน โดยแนะนำให้ผู้ลงทุนควรมีหุ้นไทย Old Economy Theme ติดพอร์ตควบคู่กับการกระจายการลงทุนไปยังหุ้น New Economy เพื่อไม่ให้พลาดผลตอบแทนในบางช่วงเวลารวมถึงช่วยลดความผันผวนพอร์ตการลงทุนจากรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยกองทุนแนะนำ อาทิ 1AMSET50 ที่ผลการดำเนินงานในอดีตทำได้ดีสม่ำเสมอเทียบกับดัชนี SET50 หุ้นบริษัทจดทะเบียนพื้นฐานดีขนาดใหญ่ และอีกกองทุน ONE-SETHD เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปันผลสูงบนดัชนี SETHD
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 64)
Tags: กระตุ้นเศรษฐกิจ, ตลาดหุ้น, บอนด์ยีลด์, พจน์ หะริณสุต, หุ้นไทย