นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียประกาศใช้มาตรการนำเข้าผักและผลไม้ โดยผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย เลขที่ 39/2019 และเลขที่ 2/2020 กำหนดให้ต้องมีใบรับรองการนำเข้า (Import Recommendation of Horticulture Products : RIPH) จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit : SPI) จากกรมการค้าอินโดนีเซีย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563
การยื่นขอใบ RIPH ต้องมีเอกสารประกอบ 3 รายการ คือ (1) ใบรับรอง GLOBAL GAP (2) เอกสารการจดทะเบียนแยกประเภท การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา รวมถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์ และ (3) หนังสือยืนยันผลผลิตต่อไร่/สวนหรือที่ดินที่จดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ หากนำเข้าสินค้าผักและผลไม้จากประเทศที่ได้จัดทำการยอมรับร่วมกับอินโดนีเซียด้านระบบการตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารสดที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช (Fresh Food of Plant Origin : PSAT) จะได้รับยกเว้นการยื่นเอกสารประกอบ 3 รายการข้างต้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้จัดทำ PSAT กับอินโดนีเซียแต่อย่างใด
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าผักไปอินโดนีเซียปริมาณ 2,552.7 ตัน ลดลง -70% จากปี 62 ส่วนมูลค่า 49.7 ล้านบาท ลดลง -48.9% จากปี 62 โดยผักที่ส่งออกมาก ได่แก่ ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังอบแห้ง และหอมแดง สำหรับสินค้าผลไม้ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียปริมาณ 37,615.2 ตัน ลดลง -50.4% จากปี 62 ส่วนมูลค่า 1,464.3 ล้านบาท ลดลง -43.3% จากปี 62 โดยผลไม้ที่ส่งออกมาก ได้แก่ ลำไยสดแช่เย็น ลำไยอบแห้ง และทุเรียนแช่แข็ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 64)
Tags: กรมการค้าต่างประเทศ, กรมการค้าอินโดนีเซีย, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย, ธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร, นำเข้า, ผลไม้