นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ซึ่งจะเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80% สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.)
ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย
ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นการลดรายจ่ายให้กับเอสเอ็มอี ซึ่ง สสว.จะช่วยเหลือค่าใช้ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งล่าสุดมีหน่วยงานผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Senice : BDS) เข้าร่วมกับ สสว.แล้วกว่า 100 หน่วยงาน และคาดว่าจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้น ต้องมีมาตรฐานและมีระดับราคาตามที่กำหนด เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้บริการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และมีทางเลือกที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการเบื้องต้นของผู้ประกอบการ โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอี ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.
นอกจากนี้ สสว. ยังดำเนินการเรื่องเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลงทะเบียนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดงานภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีได้ ซึ่งเป็นตลาดที่เปิดกว้างสำหรับเอสเอ็มอีทุกรายตั้งแต่บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนตามที่กำหนด
“จากการที่รัฐบาลออกกฎกระทรวง ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอี ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. ในวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว นับเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ”
นายวีระพงศ์ ระบุ
ผู้อำนวยการ สสว.ยังกล่าวถึงนโยบายของ สสว. ในปี 2564 ประกอบด้วย
- เพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน
- เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ Online และ Offine
- เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ทั้งผ่านกองทุน สสว. และเครือข่ายหน่วยร่วมดำเนินการ โดยการส่งเสริมเอสเอ็มอีตามแผนการดำเนินงานของ สสว. ในปีงบประมาณ 2564 โดยมีจุดประสงค์ ได้แก่
- ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) เตรียมความพร้อมให้เยาวชน สร้างและพัฒนาวิสาหกิจ รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการเริ่มต้นธุรกิจ
- พัฒนาวิสาหกิจรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ พัฒนาวิสาหกิจสู่ความเป็นมืออาชีพ พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ พัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ และขยายโอกาสทางการตลาด
- พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ พัฒนาประสิทธิภาพ/ผลิตภาพ และเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาด
- พัฒนาปัจจัยแวดล้อมในการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาระบบการให้ข้อมูลและบริการความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีพัฒนากลไกการส่งเสริม SME ปรับปรุงกฎหมายและการให้บริการของภาครัฐ และบริหารจัดการงานส่งเสริมเอสเอ็มอี
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในปี 2564 ของ สสว. คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 3,700 ล้านบาท โดยผ่านความร่วมมือของหน่วยร่วมดำเนินงานของ สสว. ซึ่งจะสามารถพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการได้ครบในทุกมิติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 มี.ค. 64)
Tags: SME, SME คนละครึ่ง, คนละครึ่ง, ผู้ประกอบการ, วีระพงศ์ มาลัย, อนุชา บูรพชัยศรี, เอสเอ็มอี