MBKET ชูหุ้นแบงก์,พลังงาน,บริการขนส่ง-ท่องเที่ยว,ส่งออก รับอานิสงส์กระตุ้นศก.สหรัฐ

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเทศไทย (MBKET) ประเมินว่า สหรัฐฯผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐตามที่ตลาดคาด พบว่ากลุ่มหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์ในระยะกลาง-ยาว คือกลุ่มแบงก์ พลังงาน บริการขนส่งและท่องเที่ยว และกลุ่มส่งออก

ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาวุฒิสภาสหรัฐมีมติ 50 ต่อ 49 เสียง ผ่านมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ เงินช่วยเหลือโดยตรงให้ครั้งเดียว 1,400 เหรียญสหรัฐสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 7.5 หมื่นเหรียญฯ และคู่สมรสที่มีรายได้รวมกันน้อยกว่า 1.5 แสนเหรียญสหรัฐ รวมเป็นวงเงิน 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือคนว่างงานเพิ่มขึ้นคนละ 300 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ (ลดลงจากแผนจากสภาล่างในสัปดาห์ก่อนที่ 400 เหรียญสหรัฐ) และจะขยายระยะเวลาการจ่ายถึง 6 ก.ย.65 จากเดิมที่สิ้นสุดในสัปดาห์นี้ , จัดสรรเงิน 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ และ งบประมาณเพื่อขยายการตรวจเชื้อและวิจัยโควิด-19 และยับยั้งการแพร่กระจาย วงเงิน 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับ Timeline ในช่วงถัดไปจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปยังสภาล่าง คาดว่าจะมีการลงมติในวันอังคารนี้ และท้ายที่สุดคาดว่านายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะสามารถลงนามได้ทันก่อน 14 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการเยียวยาเดิมจะสิ้นสุดลง

ในขณะที่ภาคบริการได้ประโยชน์จาก Pent-up Demand และ Dollar แข็งค่าระยะยาว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหหรียญฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 8.9% ของ GDP สหรัฐฯในปี 62 จะส่งผลให้อุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบก่อน

แต่ในครั้งนี้ธุรกิจภาคบริการที่มี Pent-up Demand จะมีแรงกระตุ้นให้ฟื้นได้เร็ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ต่างจากครั้งก่อนที่อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเว้นระยะห่าง (WFH) ซึ่งสินค้าของตกแต่งบ้าน สินค้า IT ที่ได้ประโยชน์มากกว่า โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ระยะกลาง-ยาวมีทิศทาง แข็งค่า แต่ในระยะสั้น จากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เม็ดเงินค่อนข้างสูง อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าชั่วคราว

ทั้งนี้ กลุ่มหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์

  1. BANK: ยังเป็นหุ้นกลุ่มหลักในฐานะหุ้นวัฎจักรที่ได้อานิสงค์บวกจากภาวะ Reflation อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. ENERGY PETRO: ทิศทางราคา Commodity โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบจะตอบรับเชิงบวกจากปัจจัยด้านอุปสงค์
  3. SERVICES (TOURISM, TRANS): หุ้นกลุ่มบริการที่โดนผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติโควิด-19 น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว จาก Pent-up Demand ที่จะกลับมาได้แรงกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบก่อนๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการกระจายวัคซีนที่เร็วกว่าคาด
  4. EXPORT (Electronics Food IE Packaging): หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ได้ประโยชน์ จากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่เจอจุดต่ำสุด และเข้าสู่รอบการแข็งค่าในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top