พรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาล ถอดถอน 7 รัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสินการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมี.ค.นี้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะไป ป.ป.ช. บางคนอาจจะต้องไป 2-3 แห่ง ยกตัวอย่างวันที่ 10 มี.ค.นี้ เราจะยื่นนายกฯ กับ รมว.พาณิชย์ ไป ป.ป.ช. แต่การยื่นถอดถอนต้องใช้เสียง ส.ส. 1 ใน 10 ซึ่งขณะนี้ปิดสมัยประชุมสภา ก็อาจจะต้องใช้เวลา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นพร้อมกันทั้งหมด ข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีคนใดเสร็จก่อน ก็จะยื่นก่อน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังร่างคำร้อง
ส่วนรัฐมนตรีคนใดจะถูกร้องไป ป.ป.ช. หรือคนใดจะถูกร้องไปที่ศาลนั้น นายวันมูหะมันนอร์ กล่าวว่า บางท่านอาจจะโดนทั้งคู่ เช่น การขัดกันแห่งผลประโยชน์ การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จากนั้น ป.ป.ช. จึงจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองต่อ ตอนนี้ต้องประมวลเรื่องทั้งหมดก่อนว่าใครจะโดนไปที่ไหนบ้าง
ส่วนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น พรรคฝ่ายค้านขอสงวนท่าทีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา ทั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พรรคฝ่ายค้านยืนยันที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ระบุว่า หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ผู้เสนอญัตติให้เป็นทางออกของประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน และฟากรัฐบาล ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทำนองเดียวกันทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“รัฐธรรมนูญปี 60 นั้น ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่ามีปัญหา และเราเห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขกันนี้ยึดหลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เราไม่ได้เดินทางผิดกรอบ หรือนอกแนวทางใดๆ เลย ส่วนผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่าวไรก็แล้วแต่ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่ 3 จะต้องเดินหน้าต่อ” นายชูศักดิ์ระบุ
สำหรับกรณีร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ กรรมาธิการ (กมธ.) กำลังพิจารณาอยู่นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทราบประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น 1.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าควรจะเพิ่มถ้อยคำที่สำคัญลงไป โดยนอกจากจะสุจริต และเที่ยงธรรมแล้ว ควรจะทำประชามติด้วยความเสรี และเสมอภาค เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้มีปัญหามาก โดยเฉพาะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ กมธ.รับหลักการในเรื่องนี้
2.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า การทำประชามติครั้งก่อนไม่ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ภาคเอกชน และประชาชน รณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเสนอว่าการทำประชามติครั้งนี้ ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้รณรงค์กันอย่างเต็มที่ โดยถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเช่นเดียวกันที่ส่วนใหญ่รับหลักการในเรื่องนี้
3.การออกเสียงลงประชามติ ซึ่งเห็นว่าควรเปิดกว้าง โดย กมธ.ยอมรับว่าควรให้ประชาชนที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ออกเสียงประชามติด้วย เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ที่ประชุม กมธ.เห็นว่าควรให้มีการออกเสียงประชามตินอกเขตเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่ง กมธ.ก็ยอมรับในข้อนี้
4.การลงทะเบียนออกเสียงประชามติ สมควรที่จะเปิดโอกาสให้อออกเสียงโดยวิธีอื่นได้ด้วย เช่น ทางไปรษณีย์ หรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์
5.บทกำหนดโทษในกฎหมายประชามติหลายเรื่องมีการเปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวางเกินไป เช่น ครั้งก่อน ที่มีการแจ้งข้อหาก่อความวุ่นวาย ทั้งที่เป็นเพียงการแจกใบปลิว จึงขอให้ตัดออก ซึ่งสุดท้ายก็ตัดในส่วนนี้ออกไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 64)
Tags: ครม., ถอดถอน, ป.ป.ช., พรรคร่วมฝ่ายค้าน