พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทาง ศบค.ชุดเล็ก ไปเตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายให้เพิ่มมากขึ้น
“มีการกำหนดไว้ 3 ระยะ ระยะแรก 1 เม.ย. ศบค.จะเสนอแผนผ่อนคลายมาตรการให้สอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีน ซึ่ง ศบค.ชุดเล็ก อาจมีการเสนอปรับพื้นที่ หรือปรับสี ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในไทย จะมีการผ่อนคลายมาตรการในเรื่องการเข้าสู่ราชอาณาจักร รวมถึงมาตรการกักตัว ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจะเสนอให้มีถึง 31 พ.ค. แต่ยังคง พ.ร.ก.โรคติดต่อไว้ อาจให้ใช้ในระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ด้วย” พญ.อภิสมัยระบุ
ทั้งนี้ ในวันนี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้หารือกันถึงกรณีที่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และได้รับวัคซีนมาจากประเทศต้นทางแล้ว กับผู้เดินทางอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะต้องมีกระบวนการกักตัวที่แตกต่างกันไป
และในระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ต.ค. คาดว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนมากขึ้นสำหรับต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่คนไทยในประเทศเริ่มได้รับวัคซีนโควิดและมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นแล้ว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทบทวนมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทั้งสถานการณ์ในประเทศ หรือบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศ ให้สอดคล้องกับการกระจายวัคซีนแล้วนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ทำงานคู่ขนานกันไป โดยได้หารือเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งในอนาคตจะมีการเปิดประเทศให้เดินทางระหว่างกันได้มากขึ้น หลังจากแต่ละประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะต้องมี “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อแสดงตัวตน และให้สามารถเดินทางเข้า-ออกยังแต่ละประเทศได้ตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนดไว้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าจะต้องรอวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพียงแต่ระหว่างนี้ไทยอาจจะออกใบประกาศการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) อย่างถูกต้องตามมาตรฐานของ WHO แล้ว
“กระทรวงการต่างประเทศได้คิดกระบวนการนี้ และเริ่มเสนอ เพื่อที่จะสามารถทำได้ทันที จนเมื่อมีวัคซีน พาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานโลกแล้ว เราจะสามารถรปรับเปลี่ยน Certificate ของเราให้ตรงกับมาตรฐานโลกได้ทันที”
พญ.อภิสมัยระบุ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำเรื่องการกระจายวัคซีน ซึ่งแผนหรือมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจะต้องสอดคล้องกัน ซึ่งในพื้นที่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหรือเมืองท่องเที่ยวสำคัญจะได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ซึ่งนอกจากแพทย์ พยาบาล อสม.แล้ว ยังหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือกิจกรรมเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ก็จะได้รับวัคซีนในลำดับแรกๆ เช่นกันด้วย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงแนวทางการผ่อนคลายกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย.ว่า ปีนี้หลายพื้นที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการกันไปบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ เมื่อเทศกาลสงกรานต์ผ่านไปแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะต้องไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
“ศบค.ได้หารือว่า กระทรวงวัฒนธรรมอาจจะไปคิดรูปแบบว่าจะจัดงานสงกรานต์อย่างไร ที่จะเป็น new normal ให้เราสามารถคงประเพณีไว้ได้ แต่มีมาตรการที่สอดคล้องกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้ด้วย ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเน้นย้ำกับประชาชนในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวอย่างไร เพราะเรายังต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกระยะ และเชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น”
พญ.อภิสมัยระบุ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ช่วงการสอบแข่งขันของนักเรียนในระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว โดยยึด 6 มาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถานศึกษาไว้แล้ว เนื่องจากในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.จะมีการสอบแข่งขันในหลายสนามทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสอบ O-NET GAT/PAT สอบวิชาสามัย สอบ V-NET (สอบด้วยระบบดิจิทัล) และการสอบวิชาเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัย
“การจัดห้องสอบแต่ละแห่ง จะต้องมีนักเรียนเข้าสอบไม่เกินห้องละ 30 คน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก และประสานไปกับผู้ว่าฯ ของทุกจังหวัดแล้ว เพื่อให้สนามสอบทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน”
พญ.อภิสมัย ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19