ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คง GDP ปี 64 โต 2.6% แต่ปรับกรอบใหม่มาที่ 0.8-3.0%

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ไว้ที่ 2.6% แต่ปรับกรอบประมาณการมาที่ 0.8-3.0% จากเดิม 0-4.5%


กรอบประมาณการใหม่นี้ สะท้อนความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจที่ลดลง ตามความคืบหน้าอย่างมากของการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจหลัก ส่วนการปรับลดกรอบบน สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ยังต้องใช้เวลา และช้ากว่าเศรษฐกิจโลก เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง

น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า การปรับกรอบล่างจาก 0.0% เป็น 0.8% เนื่องมาจากในช่วงที่ประมาณการกรอบล่างเป็น 0% นั้น ได้คำนึงถึงปัจจัยการระบาดระลอกใหม่และมาตรการ Lockdown แต่เนื่องจากว่าในการระบาดที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีความรุนแรงอย่างที่คาดการณ์และมีการ Lockdown แค่เฉพาะจุดเท่านั้น ทำให้ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเบาลงจึงได้ปรับกรอบล่างมาอยู่ที่ 0.8%

ในส่วนของกรอบบนที่ปรับจาก 4.5% เป็น 3.0% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทย เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นผลทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ช้า แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเร็วของเศรษฐกิจโลก ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐและจีน ในกลุ่มสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมัน และชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่จีนนิยมบริโภคผลไม้จากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องของการกระจายวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายการเปิดประเทศ โดยการแจกจ่ายวัคซีนล็อตแรกของทางภาครัฐนั้น น่าจะเป็นไปได้ตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ยังคงต้องจับตามองการแจกจ่ายวัคซีนล็อตสองจำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี

อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งขยับตัวค่อนข้างเร็ว เป็นผลมาจากแหล่งผลิตน้ำมันของสหรัฐที่ได้รับความเสียหายจากพายุ หรือการปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการระบาดที่รุนแรงจนส่งผลให้ต้อง Lockdown และใช้มาตรการเยียวยาอีก โดยจะเน้นไปที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถประคองไปจนถึงช่วงที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของตลาดสำคัญ 10 แห่งไปถึงช่วงเดือน ก.ย.64 ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจาก 10 ตลาดสำคัญ (ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชียและอาเซียนบางประเทศ) อาจทำได้ราว 1.9 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกับช่วง 9 เดือนแรกของปี การจะเห็นตัวเลข 2 ล้านคนในปีนี้ยังมีความเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ตสามารถดำเนินการได้ หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง

ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีน หากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนเดือน ต.ค.64 เบื้องต้นทางการก็อยู่ระหว่างพิจารณาและคงเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมาตามแผน

น.ส.เกวลิน ระบุว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะถึง 2 ล้านคน แต่ยังคงต้องอาศัยความพร้อมของหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในประเทศต้นทางที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ว่ามีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร กลุ่มที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะเป็นกลุ่มที่ต้องการมาท่องเที่ยวหรือไม่ อีกทั้งนโยบายของแต่ละประเทศว่ามีการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศได้หรือไม่ และเมื่อกลับไปแล้วจะต้องมีการกักตัวอย่างไรบ้าง

“ต้องดูปัจจัยความพร้อมภายในประเทศไทยควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว คำนวณจาก 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็น 1 แสนคน ต้องได้รับวัคซีนจำนวน 2.2 แสนโดส ก่อนเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวภายในประเทศ อีกทั้งยังต้องดูนโยบายการกักตัวภายในประเทศไทยด้วยว่าจะลดจำนวนวันกักตัว หรือมีการจัดการกับนักท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง รวมไปถึงปัจจัยความคืบหน้าของเงื่อนไขในการใช้วัคซีนพาสปอร์ตในการเดินทาง ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลงอีกด้วย”

น.ส.เกวลินระบุ

ส่วนประเด็นติดตามที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ได้แก่ การกระจายวัคซีนในประเทศ และแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ แม้ว่าการทยอยเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศจะยังไม่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็คาดว่าหากมีการแพร่ระบาดอีกระลอกในประเทศ จะไม่รุนแรงเท่ากับที่ผ่านมา

ด้านน.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นหนี้ครัวเรือนในประเทศว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทย อยู่ที่ระดับ 86.6% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีกได้ โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2564 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 89.5% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14 ล้านล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจโตตามหนี้ไม่ทัน โดยกลุ่มหนี้ครัวเรือนภายใต้การดูแล/หรือที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ คิดเป็น 20% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 2.79 ล้านล้านบาท

โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งนับเป็นหนี้ระยะแช่แข็ง โดยมีมาตรการช่วยเหลือการชำระหนี้และการพักชำระหนี้ในทุกภาคส่วน และในปัจจุบันอยู่ที่ระยะการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือในทุกภาคส่วน เปลี่ยนเป็นการช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงในบางกลุ่มแทน เช่นเดียวกันกับในภาคธุรกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงในบางกลุ่ม เช่นการให้ความช่วยเหลือในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม ธุรกิจค้าปลีกที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า หรือธุรกิจที่ปรับตัวสู่ภาคออนไลน์ไม่ทัน เป็นต้น

โดยผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า 10.8% ของกลุ่มตัวอย่างมีภาวะการเงินเสี่ยงต่อวิกฤต โดยพบว่าครัวเรือนยังมีความกังวลกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มที่ประสบปัญหารายได้ลดลงคิดเป็น 56.2% ส่วนรายได้เท่าเดิม คิดเป็น 43.8%

กลุ่มที่รายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 16.9% ส่วนรายได้ลด แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม 52.9% และรายได้ลดลง และค่าใช้จ่ายลดลง 30.2% ส่วนกลุ่มที่รายได้ลด เพราะมีภาระหนี้สูงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ราว 25% หรือคิดเป็น 1 ใน 4
ส่วนมาตรการความช่วยเหลือเพิ่มเติม กลุ่มตัวอย่าง 38.7% ต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเงินช่วยเหลือ รองลงมา 26.2% ต้องการมีรายได้และมีงานทำ ส่วน 23.9% ต้องการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเพิ่มเติม และอีก 11.2% ต้องการคำแนะนำและความรู้ในการแก้หนี้

“ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ล่าสุดชี้ว่าครัวเรือนยังกังวลกับสถานการณ์รายได้ลด ปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สูง อันทำให้มี 10.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีภาวะทางการเงินเสี่ยงต่อวิกฤติ จึงยังจำเป็นต้องมีการต่ออายุมาตรการดูแลให้กับครัวเรือนเหล่านี้ เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่มาตรการฯ สามารถทำได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตามพัฒนาการของระยะหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงิน ที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดมา แล้วเช่นเดียวกับทิศทางเศรษฐกิจ”

น.ส.ธัญญลักษณ์ ระบุ

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว มาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานบริษัท 41.3% ธุรกิจส่วนตัว 18% ค้าขายและรับจ้างทั่วไป 37.2%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top