ภายใต้เศรษฐกิจยุค 4.0 อาวุธที่สำคัญและทรงพลานุภาพของผู้ประกอบภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ นั่นคือเครื่องมืออย่าง Big Data รวบรวมฐานข้อมูลส่วนบุคคลกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่นำมาใช้ต่อยอดทำการตลาดตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังเป็นเกราะป้องกันถูก Disrupt จากคลื่นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
แต่ทางกลับกันการที่ภาคธุรกิจครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค หากกรณีเกิดการรั่วไหลหรือนำไปสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคลนั้นๆ เป็นข่าวดีของผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาผิดองค์กรธุรกิจนั้นจากการเริ่มบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทจดทะเบียน ภายหลังจากกฎหมายฉบับดังกล่าวเลื่อนการบังคับใช้เต็มที่มาจากปี 2563 และจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิ.ย.2564 นี้
นายสมพร จิตเป็นธม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแม่ของบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตองค์กรชั้นนำ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act:PDPA) จะประกาศใช้ไปตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.2562 แต่หมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจกำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเต็มรูปในวันที่ 1 มิ.ย.2564 ทำให้ภาคธุรกิจทุกแห่ง จำเป็นต้องเข้าสู่สภาพบังคับต้องปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้
ภายหลังจากการทริสเข้าไปสำรวจการบริหารจัดการภายในองค์กรต่างๆ พบว่ามีบริษัทจำนวนมากยังไม่ได้ปรับปรุงระบบภายในเพื่อบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลในการรองรับกฎหมายดังกล่าว และแม้บางบริษัทจะทราบว่ารัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายนี้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าต้องมีแนวทางปฎิบัติอย่างไร สะท้อนถึงความเสี่ยงทางธุรกิจและความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากบริษัทดำเนินการผิดพลาดเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย PDPA จนได้รับบทลงโทษอย่างร้ายแรง
“บอกได้เลยว่าเสียศูนย์แน่นอนหากโดนบทลงโทษจากกฎหมายฉบับนี้ เพราะบทลงโทษในหมวดธุรกิจที่กระทำผิดประกอบด้วย บทลงโทษทางแพ่ง, ทางปกครอง และร้ายแรงถึงบทลงโทษทางอาญา โดยผู้ที่ถูกลงโทษที่เป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทจำเป็นต้องรับผิดชอบจากการละเมิดกฎหมายหากร้ายแรงก็ถึงขั้นจำคุกได้เช่นกัน”
นายสมพร กล่าว
สำหรับตัวอย่างที่ใกล้ตัวนั่นคือ ทุกบริษัทจะมีเว็บไซด์ของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นการจ้าง Outsource มาดำเนินการแทน โดยผู้พัฒนาเว็บไซด์จะใช้ Cookies หรือ HTTP Header เป็นรูปแบบหนึ่งที่ประกอบไปด้วยข้อความ Text ตามแต่ละเว็บไซต์จะถูกบันทึกลงบนเบราเซอร์ของผู้แวะเวียนเข้าไปใช้งาน จุดประสงค์หลักเพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถจัดเก็บข้อมูลบางอย่างไว้ที่เว็บเบราเซอร์ของผู้ใช้งานเพื่อทราบพฤติกรรมผู้ใช้บริการ
นายสมพร กล่าวว่า จุดนี้มีความเสี่ยงว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอาจถูกลักลอบหรืออาจะนำไปสู่การถูกแฮกข้อมูลบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์ แม้ว่าการใช้ Cookies ในเว็บไซด์ดูเป็นเรื่องปกติด้านกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจ แต่เมื่อกฎหมาย PDPA บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบก็จะเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ ทำให้ Cookies ในเว็บไซด์ที่ขัดกับหลักเกณฑ์อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย และอีกผลกระทบที่ตามคือผลกระทบมิติภาพลักษณ์ เพราะหากผู้บริโภคและคู่ค้าไม่เชื่อถือองค์กรนั้นแล้วก็เท่ากับเกิดความเสี่ยงที่อาจหมดโอกาสประกอบธุรกิจต่อไปได้
“Big Data คือน้ำมันแห่งอนาคตที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก เป็นเมกะเทรนด์กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่มีการใช้กฎหมาย GDPR เป็นกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเหมือนกัน แต่มีความเข้มงวดมากกว่าของประเทศไทยที่เริ่มใช้กฎหมาย PDPA
ดังนั้น บริษัทที่มีการค้าขายกับคู่ค้าแถบประเทศยุโรปหากละเมิดกฎหมายบทลงโทษจะค่อนข้างรุนแรงถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงระดับ 1-2 ล้านยูโร หรือบางกรณีปรับเป็นวงเงินตามความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเป็นที่บริษัทต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวรองรับการกฎหมายฉบับนี้”
นายสมพร กล่าว
และวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 8.30-12.00 น. ทริส คอร์ปอเรชั่น จะจัดงาน TRIS Annual Forum ภายใต้แนวคิด “Maturity in Privacy” เผยแพร่ความสำคัญของ Data Governance และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านมุมมองวิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการเพื่อเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ณ โรงแรมคอนราด โดยเปิดให้องค์กรที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานในส่วน Regular Guest สูงสุดองค์กรละ 2 ท่านฟรี ส่วนบุคคลทั่วไปขอสงวนสิทธิ์ลงทะเบียนเข้าร่วมรับชมงานผ่าน LIVE ด้วยบัตร Online Guest เท่านั้น เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19
สามารถติดตามบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆได้ที่ https://youtube.com/c/InfoQuestNews
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 มี.ค. 64)
Tags: Big Data, TRIS, ข้อมูลส่วนบุคคล, คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ทริส คอร์ปอเรชั่น, ทริสเรทติ้ง, ธุรกิจ, สมพร จิตเป็นธม, สัมภาษณ์พิเศษ