พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแผนการตรวจโควิดเชิงรุกเพิ่มเติมในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย เขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม และเขตคลองสามวา โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะนำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ไปเก็บสิ่งส่งตรวจ (swab) ระหว่างวันที่ 11-31 มี.ค.64
โดยจะสุ่ม swab ประชาชนในชุมชนที่จดทะเบียนกับกรุงเทพฯ ทุกชุมชน ชุมชนละ 50 คน สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.ผู้ทำงานในสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว 2.ผู้ที่เคยเดินทางไปพื้นที่เขตจอมทอง หนองแขม บางบอน บางแค บางขุนเทียน จังหวัดปทุมธานี หรือจังหวัดสมุทรสาคร 3.บริเวณที่พักที่มีแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
พล.ต.ท.โสภณ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบสวนโรคและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้อย่างน่าพอใจ
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กำชับให้คณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีสำนักเทศกิจ เป็นเลขานุการคณะทำงาน ประสานสำนักงานเขตและหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองบัญชาการตำรวนนครบาล กอ.รมน.กทม. เป็นต้น เข้มงวดตรวจตราสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรน โดยเฉพาะสถานประกอบการผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น เพื่อให้เจ้าของ ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่หน่วยงานราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้เพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือ “หมอชนะ” เป็นต้น
สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระยะยาว ในพื้นที่เขตติดต่อสมุทรสาครนั้น กทม.ได้ร่วมกับ สปคม. ภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศุภนิมิต องค์การอนามัยโลด (WHO) และสถานประกอบการ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้ารับการอบรม รวมจำนวน 70 คน เป็นแรงงานต่างด้าวจากสถานประกอบการ 9 แห่ง ได้แก่ บริษัท ADDA บริษัท เอช จี เพลทติ้ง จำกัด บริษัทมิลล์คอนสตีล จำกัด มหาชน บริษัทเฮงสกรู จำกัด หจก.ลีลาแหอวน บริษัทห้องเย็นท่าข้าม จำกัด รวมทั้งแรงงานต่างด้าวจากตลาดพรวิชัย และตลาดปากซอยเทียนทะเล 8
โดยให้ความรู้เรื่องโควิด-19 บทบาทหน้าที่ของ อสต. การเฝ้าระวังโรคในชุมชน การสำรวจชุมชน และการคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทั้งได้คัดเลือกตัวแทนโรงงานละ 1 คน เป็นหัวหน้า อสต.เพื่อติดต่อ สื่อสาร ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมอบให้ อสต.ทุกคน ไปสำรวจสถานะสุขภาพของเพื่อนบ้านคนละ 10 ครัวเรือน ตามแบบฟอร์มที่ทางทีมงานจัดทำขึ้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรุงเทพมหานคร, ตรวจเชิงรุก, โควิด-19, โสภณ พิสุทธิวงษ์