บมจ.การบินไทย (THAI) เตรียมเรียกประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.หลังเข้ายื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดในวันนี้ โดยคาดว่าศาลฯ จะอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ได้ในราวเดือน ก.ค.64 ซึ่งเบื้องต้นบริษัทวางเป้าหมายจะพลิกฟื้นผลประกอบการให้กลับมามีกำไรภายในปี 67
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า การบินไทยพร้อมจะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน
โดยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (Private High Quality Full Service Carrier with Strong Thai Brand, Connecting Thailand to the World and Generating Consistently Healthy Profit Margin)
ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก 2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ 3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ และ 4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยการปรับใช้และปรับปรุงระบบและกระบวนการในการทำงานด้วยวิธีการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของพนักงานในทุกระดับ ทั้งผู้บริหารและพนักงานระดับปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติของพนักงานภายในองค์กร รวมถึงการกำหนดดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) และแรงจูงใจ (Incentives) ที่เหมาะสมให้สอดคล้องไปกับความสำเร็จของแผนปฏิรูปธุรกิจ และการทบทวนและพัฒนาการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับโลกในภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน
การบินไทยได้ริเริ่มจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Chief of Transformation Office) และได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายการเงิน พร้อมระบุแผนการดำเนินงานโดยละเอียด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน และกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ยังได้มีการวางระบบการดำเนินงานเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จ โดยได้มีการปรับใช้ระบบและวิธีการที่ได้รับการรับรองว่าประสบผลสำเร็จแล้วของบริษัทอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกว่า 500 แห่งทั่วโลก รวมถึงการปรับโครงสร้างของสายการบินต่างชาติและการปฏิรูปธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศไทย คาดว่าจะทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 68 ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากร เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนระบบการทำงานรูปแบบใหม่ และเน้นความโปร่งใส ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้แผนประสบความสัมฤทธิ์ผล
นับแต่การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ปัจจุบัน การบินไทยก็มีมาตรการที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) และการลดค่าใช้จ่าย โดยมีโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การปรับลดขนาดองค์กร
การบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 62 ที่มีอยู่ 29,000 คน ปัจจุบันลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A ทำให้วันนี้คงเหลือพนักงาน 21,000 คน และคาดว่าในปี 64 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 ถึง 15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต
บริษัทยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบินในระยะสั้นจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างสมบูรณ์ คณะผู้ทำแผนจึงเจรจาจัดทำข้อตกลงเพื่อปรับเงื่อนไขการใช้เครื่องบินกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน โดยปรับค่าเช่าเป็นลักษณะยืดหยุ่นตามชั่วโมงการใช้งานจริง รวมถึงได้มีการจัดกลุ่มนักบินให้มีความเหมาะสมกับแบบของเครื่องบินและปรับชั่วโมงการบิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบินได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
หลังจากการบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ในลำดับถัดไป เจ้าหนี้จะได้รับสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งบริษัทจะส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่ออำนวยความสะดวก คาดว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งหนังสือแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้ พร้อมลิงก์สำหรับเข้าดูและดาวน์โหลดแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้เร็วๆ นี้
นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี THAI เปิดเผยว่า บริษัทต้องการระดมเงินทุนราว 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี (64-65) ซึ่งจะมาจากแนวทางการออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) การเปิดให้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาทั้งจากเอกชนในประเทศและต่างชาติ การแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ และเงินกู้
ในช่วงกลางปีนี้จะระดมทุนก้อนแรกกว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจจะมาจากผู้ถือหุ้นเดิม กลุ่มทุนใหม่ที่อยู่ระหว่างเจรจา และเงินกู้ใหม่ สัดส่วนอย่างละครึ่ง เพื่อนำมาจ่ายสำหรับการชดเชยพนักงานที่คาดว่าในปีนี้จะร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000-7,000 คน และใช้เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
“ตอนนี้จากโครงสร้างทุน ต้องยอมรับว่าการหาผู้ร่วมทุนใหม่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะเราไม่ได้รับการ Hair Cut หนี้จากเจ้าหนี้ เพราะฉะนั้นภาวะขาดทุนสะสมก็ยังคงอยู่ เงินทุนจะเข้ามาใหม่ก็จะลำบาก ฉะนั้นเงินใหม่อาจจะมาจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือเจ้าหนี้ เรายังมีเวลาอีก 2 เดือนที่คุยในรายละเอียด คาดว่าเราจะใช้เงินใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้” นายชาย กล่าว
ตามแผนการฟื้นฟูกิจการบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้มากกว่า 50% ซึ่งก่อนหน้าเนี้บริษัทเจรจาขอ Hair Cut หนี้หลายรอบแต่ไม่มีเจ้าหนี้รายใดตอบรับ ดังนั้นเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้บริษัทจึงไม่ได้ทำการ Hair Cut หนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ผลขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยจำนวนหนี้ทั้งหมดที่เจ้าหนี้ยื่นเข้ามาอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท แต่จำนวนหนี้ที่บริษัทเป็นหนี้จริง 1.7 แสนล้านบาท นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน
อย่างไรก็ดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะกำหนดสิทธิโหวตของเจ้าหนี้ ซึ่งจะกำหนดก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.64 ทั้งนี้มีจำนวนลูกหนี้รวม 1.3 หมื่นราย กลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ คือเจ้าหนี้หุ้นกู้ ได้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 6 ปีนับจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน กลุ่มเจ้าหนี้สถาบัน จะจ่ายเฉพาะเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยขอไม่จ่ายในช่วง 3 ปี จะเริ่มจ่ายในปีที่ 4
นายขาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ใน 2 ปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนได้ราว 5 หมื่นบ้านบาทจากปัจจุบันลดไปได้แล้ว 5 พันล้านบาทโดยการปรับลดค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ การปรับลดจำนวนพนักงานมาที่ 1.3-1.5 หมื่นคน ภายในปี 64-65 จาก 2.9 หมื่นคนเมื่อสิ้นปี 62 การค่าเช่าระยะยาว 40% ลดค่าเช่าระยะสั้น (2 ปี) และในปีถัดไปจะใช้าอัตราค่าเช่าใหม่ ต่ำกว่าปัจจุบัน 40% และปรับค่าเช่าเป็นลักษณะยืดหยุ่นตามชั่วโมงการใช้จริง
นอกจากนี้การบินไทยจะลดขนาดฝูงบิน จาก 103 ลำในปี 62 เหลือ 85 ลำในปี 68 และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์ 9 แบบเหลือ 4 แบบเพื่อให้สอดคบ้องกับความต้องการในอุตสาหกรรม เพราะการเกิดโควิด-19 ทำให้ดีมานด์ยังไม่กลับมาฟื้นสมบูรณ์ ทั้งนี้การปรับลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้
นายชาญศิลป์ คาดว่า จะเริ่มเห็นการบินไทยกลับมามีกำไรในปี 67 และคาดว่ารายได้จะเริ่มฟื้นในปี 64 ที่คาดว่าจะได้ 6-7 หมื่นล้านบาทจากปี 63 ที่ 2 หมื่นล้านบาท และเพิ่มเป็น 1 กว่าแสนล้านบาท ในปีถัดๆไป และในปี 68 จะมีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เทียบกับในปี 62 มีรายได้ 1.6-1.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ภายในปี 68 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% จากที่ปรับลดต้นทุนลงได้ 35% แม้รายได้จะลดลง 21% เมื่อเปรียบเทียบในปี 62 จากการปรับลดฝูงบิน และปรับลดพนักงาน
ในข่วงไตรมาส 1-2 ปี 64 รายได้การบินไทยส่วนใหญ่จะมาจากคาร์โก้ และในไตรมาส 3/64 จะเริ่มทำการบินเส้นทางต่างประเทศ ได้แก่ ยุโรป อาทิ แฟรงค์เฟิร์ต. ปารีส ลอนดอน ซูริค โอเปนเฮเก้น เอเชียเหนือ อาทิ นาริตะ ฮาเนดะ โอซาก้า. โซล เป็นต้น ส่วนจีนกำลังขอทำการบินเส้นทางเซี่ยงไฮเทค ปักกิ่ง
นอกจากนี้ ภายใน 5 ปีนี้ บริษัทจะยกระดับหน่วยธุรกิจ (BU) บางหน่วยมาเป็นบริษัทจำกัด เพื่อหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนด้วยให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ขณะที่บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด หรือสายการบินไทยสมายล์ ยังคงเป็นบริษัทย่อยที่จะมีความร่วมมือกับสายการบินไทยต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 64)
Tags: THAI, การบินไทย, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, สายการบิน, หุ้นไทย, แผนฟื้นฟูกิจการ