เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ กัญชงกลุ่มแรก ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 จำนวน 7 ราย ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และสเปน บางรายนำเข้าจากแคนาดา อิตาลี ได้แก่
- บริษัท สันติสุข อกริเทค จำกัด
- บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด
- บริษัท ลีน แอนด์ ยัง จำกัด
- บริษัท แพล้นโทโลยี จำกัด
- บริษัท อีสเทิร์น สเปรคตรัม กรุ๊ป จำกัด
- บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด
- บริษัท กัญชภัทร จำกัด
ทั้งนี้ อย. จะเร่งพิจารณาคำขอและทยอยประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชง ใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ใบอนุญาตสกัดกัญชง รวมทั้งใบอนุญาตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชงตลอดห่วงโซ่ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
รองเลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า หลังจากกฎกระทรวงกัญชงมีผลใช้บังคับปรากฏว่า มีผู้สนใจต้องการขออนุญาตเป็นจำนวนมาก ทั้งต้นน้ำเพื่อปลูกกัญชง กลางน้ำเพื่อสกัดสารสกัดจากกัญชง และปลายน้ำเพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้มีคนฉวยโอกาสหลอกขายเมล็ดพันธุ์กัญชงและสาร CBD มีการตั้งราคาขายสูงมาก
ดังนั้น สำนักงานอย. ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เนื่องจากกฎกระทรวงกัญชงเพิ่งเปิดให้ยื่นขออนุญาตเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสารสกัด CBD จากกัญชงจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ และขอย้ำว่า ผู้ขออนุญาตต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งขณะนี้หากเป็นเมล็ดพันธุ์ในประเทศจะมาจากหน่วยงานรัฐ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น และหากเป็นเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศจะมาจากผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 มี.ค. 64)
Tags: กัญชง, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, สุภัทรา บุญเสริม, เมล็ดพันธุ์กัญชง, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร