โบรกเกอร์ต่างเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP เล็งยอดขายในไตรมาส 1/64 เติบโตโดดเด่น จากการขายโครงการแนวราบ ประกอบกับการจัดโปรโมชั่นกระตุ้น แม้ยังมีแรงกดดันจากการโอนชะลอตามฤดูกาล และการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของยอดโอนจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะส่วนใหญ่การโอนโครงการต่าง ๆ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่กระจุกตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4
นอกจากนี้ AP ยังมีความน่าสนใจในส่วนของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 6% ขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบันยัง Laggard สอดคล้องหุ้นอื่นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลงานของ AP จะยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกดดันอยู่
หุ้น AP ปิดเช้าที่ 7.45 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+1.36%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดบวก 1.82 จุด
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
กสิกรไทย | ซื้อ | 8.50 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส | ซื้อ | 8.60 |
ทรีนีตี้ | ซื้อ | 8.20 |
บัวหลวง | ซื้อ | 8.50 |
ฟิลลิป | ซื้อ | 8.60 |
ยูโอบี เคย์เฮียน | ซื้อ | 8.70 |
หยวนต้า | ซื้อ | 9.00 |
เอเซีย พลัส | ซื้อ | 8.10 |
นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มยอดขายของ AP ในช่วงไตรมาส 1/64 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมากราว 30% มาจากการเดินหน้ารุกเปิดโครงการแนวราบในต่างจังหวัด แม้จะมีปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เข้ามา แต่การขายแนวราบใหม่ยังสามารถทำได้ดี และมีการจัดโปรโมชั่นระบายสต็อกเข้ามาหนุนยอดขายช่วงนี้ จึงคาดว่าจะสามารถปิดยอดขายไตรมาส 1/64 ได้ราว 6 พันล้านบาท
ด้านการโอนในช่วงครึ่งปีแรกมองว่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นมากนัก เนื่องจากไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่โอนในครึ่งปีแรก ทำให้ยอดโอนยังไม่สดใสมากนัก แต่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง จากการโอนคอนโดมิเนียมใหม่ 2 โครงการที่อโศกและสาดพร้าว หนุนยอดโอนในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาเพิ่มขึ้นโดดเด่น
อย่างไรก็ตาม AP ยังมีความน่าสนใจในเรื่องของผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 6% เป็นปัจจัยจูงใจให้เข้าลงทุน สำหรับนักลงทุนที่มองในแง่ของผลตอบแทนจากเงินปันผล แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังค่อนข้าง Laggard จากปัจจัยกดดันที่มาจากเศรษฐกิจชะลอ
ด้านนายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า AP เป็นหนึ่งในหุ้นอสังริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีกว่า 6% ในขณะที่ราคาหุ้นไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มองว่ายังมีโอกาสและความน่าสนใจในการเข้าลงทุน แม้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยบ้าง ซึ่งกระทบต่อ AP ด้วย แต่หากมองในแง่กลยุทธ์ของ AP ที่มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว และเน้นหารขายในกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อในตลาดมาก อย่างเช่น การขายโครงการแนวราบ ที่ยังสามารถสร้างยอดขายและรายได้เข้ามาให้กับบริษัทได้อย่างดี
แนวโน้มไตรมาส 1/64 มองยอดขายจะเติบโตขึ้นมากหลังจากบริษัทแจ้งยอดขายถึงช่วงกลางเดือนก.พ.64 ทำได้แล้ว 4.5 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของเป้าหมายยอดขายทั้งปีที่บริษัทตั้งไว้ 4.1 หมื่นล้านบาท จากการขายโครงการแนวราบ 2 โครงการใหม่ที่เปิดไปได้รับการตอบรับที่ดี และการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขายในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ได้ยอดขายเข้ามาค่อนข้างมาก แม้ว่าในด้านรายได้ในช่วงไตรมาส 1/64 อาจจะไม่ได้โดดเด่นเหมือนกับยอดขายก็ตาม แต่มองว่าการฟื้นตัวของยอดโอนจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะส่วนใหญ่การโอนโครงการต่าง ๆ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่กระจุกตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4
ส่วนนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง มองแนวโน้มยอดขายของ AP ในช่วงไตรมาส 1/64 เติบโตโดดเด่น และมีโอกาสทำได้ดีที่สุดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จากยอดขายโครงการแนวราบที่เติบโตขึ้นเกิน 50% ผลักดันให้ยอดขายรวมในช่วงไตรมาส 1/64 จะเติบโตได้สูงกว่า 50-60% หลังจากบริษัทได้เปิดโครงการแนวราบใหม่ไปแล้ว 2 โครงการ และสามารถทำยอดขายได้ดี ประกอบกับการออกโปรโมชั่นกระตุ้นการขายดันให้ยอดขายจากสินค้าในสต็อกเข้ามาเสริม ทำให้ไตรมาส 1/64 ด้านยอดขายจะมีความโดดเด่น
อย่างไรก็ตามในแง่ยอดโอนในช่วงไตรมาสแรกนี้จะไม่โดดเด่นนัก เพราะเป๊นช่วงของฤดูกาลของธุรกิจที่การโอนเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เข้ามากระทบ ทำให้การโอนอาจจะต้องเลื่อนออกไป ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทบ้าง แต่หากมองในแง่ของความน่าสนใจนั้นจะมองไปที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่บริษัทให้ในอัตรา 6.1% ซึ่งทำให้มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหาหุ้นที่ให้ปันผลดี และเป็นการลงทุนระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 64)
Tags: AP, Consensus, กวี ชูกิจเกษม, กสิกรไทย, ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ, ดีบีเอส วิคเคอร์ส, ทรีนีตี้, นวลพรรณ น้อยรัชชุกร, บล.กสิกรไทย, บัวหลวง, ฟิลลิป, ยูโอบี เคย์เฮียน, หยวนต้า, หุ้นไทย, เอพี (ไทยแลนด์), เอเซีย พลัส