นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
อาทิ การจัดระบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service และ Single Window อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรต่างๆ การกำหนดอัตราภาษีที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ เร่งดำเนินการเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ให้เกิดการลงทุนรวมอุตสาหกรรมใหม่
สำหรับภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในปี 2563 มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนหลักจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลคำการลงทุนทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี โดยนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ 3 อันดับแรกที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี
“โครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอมาแล้ว ลงทุนจริง 46% ส่วนที่เหลือก็จะมาลงทุนปีนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย”
นายคณิศ กล่าว
นายคณิศ กล่าวถึงความก้าวหน้าการผลักดันการใช้ประโยชนจาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้
- ด้านโครงสร้งพื้นฐาน : จากสัญญาณสู่ข้อมูลกลาง ติดตั้งแล้วเกิน 80% ของพื้นที่
- ด้านสัญญาณ ได้ติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณ โดยร่วมกับ สดช. และ กสทช.ประสานให้เกิดต้นทุนต่ำสุดด้วยการใช้เสาอัจฉริยะ หรือ smart pole ร่วมกัน และการลงทุนเสาเพิ่มเพื่อให้เช่า รวมทั้งกำหนดราคาต่ำสุด เพื่อให้สะท้อนความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ
- ด้านข้อมูลกลาง ร่วมกับ สดช. กำหนดให้ข้อมูลภาครัฐ รวมอยู่ในคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) โดยพื้นที่อีอีซีจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐและภาคเอกชนเฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้ จัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต หรือ Common Data Lake ในพื้นที่อีอีซี
- ด้านการใช้ประโยชน์ : ก้าวสู่ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานในพื้นที่อีอีชี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องใช้ 5G บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมฯ มาบตาพุด และบ้านฉาง
- นำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ 5G สูงสุด ผลักดันให้บ้านฉาง ก้าวสู่ตันแบบชุมชนอนาคต (Smart city) รวมทั้งนำ 5G มาใช้ประโยชน์แผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน
- สร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล และส่งเสริม Star up ทำแอปพลิเคชันด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เป็นตัน
- ด้านการพัฒนาบุคลากร เยาวชนไทย คือหัวใจ 5G โดยผลักดันเอกชน และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลทุงนด้านดิจิทัล ให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New รkil ตั้งเป้าหมาย 3 ปี (2564 – 2566) รวม 115,282 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 8392 คน มีแผนในปี 2564-2565 จำนวน 62,890 คน และประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น Huawai, HP ผลิตบุคลากรร่วมกันอย่างน้อย 44,000 คน
- ด้านการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ทุกภาคส่วน ให้เกิดการรับรู้การใช้ประโยชน์จาก 5G และร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
“ก่อนกลางปีนี้จะมีข่าวดี บริษัทที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจ 5G ย้ายฐานผลิตมายังไทย ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา”
นายคณิศ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในส่วนของโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) เพื่อรองรับการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดทำระบบห้องเย็นระหว่าง สกพอ., บมจ.ปตท. (PTT) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เกิดกลไกความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกร นำร่องด้วยทุเรียน ผลไม้ที่สร้างรายได้หลักของไทย ซึ่งขณะนี้ สกพอ.ร่วมกับ อบจ.ระยอง เตรียมจัดทำระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ และกลุ่มสหกรณ์ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยระยะแรกจะคัดเลือกจากกลุ่มชาวสวนทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับส่งออก (จีเอพี) โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น 20-3O%
ทั้งนี้ กรอบการขับเคลื่อนโครงการอีเอฟซีจะดำเนินการ 4 แนวทางหลัก ได้แก่
- 1) ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษาความต้องการ รสนิยม การบริโภคทุเรียน ม้งคุด และผลไม้ภาคตะวันออก เริ่มจากตลาดประเทศจีน
- 2) วางระบบการค้าใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พร้อมพัฒนาลงทุนบรรจุภัณฑ์ เพื่อขยายการส่งออกทางอากาศสู่ตลาดโลก เกษตรกรได้รับรายได้ตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
- 3) จัดทำระบบห้องเย็น รักษาคุณภาพผลไม้ให้ส่งขายตลอดปี
- 4) จัดระบบสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้จะมีปัญหาโควิด-19 ซึ่งมีการลงทุนใน EEC ไปแล้วอย่างน้อย 50% พร้อมสั่งการให้มีการรายงานข้อมูลเพิ่มเติมในทุก 1 เดือนและ 3 เดือน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน และเนเธอแลนด์ เข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนา 5G และการพัฒนาดิจิทัล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 มี.ค. 64)
Tags: EEC, กพอ., การลงทุน, คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, คณิศ แสงสุพรรณ, สกพอ., อีอีซี