นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง ผลของการฉีดวัคซีนหากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ได้โดยเร็ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะเริ่มที่กลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนการที่ประชากรทั่วโลก 7,000 กว่าล้านคนเข้าถึงหรือประชากรไม่ต่ำกว่า 70% ของประชากรโลกหรือประมาณ 5,000 ล้านคนได้รับการป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีนนั้น เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล
ส่วนไทยนั้นต้องวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดอย่างน้อย 70% ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงค่อยตัดสินใจเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราควรจะวางแผนให้คนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยได้รับวัคซีนเดือนละ 15-20 ล้านโดส และต้องให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนเป็นอย่างช้า เพื่อจะสามารถเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปรกติและเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่
นอกจากการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศประมาณ 28 ล้านโดสแล้ว รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบริษัทของคนไทยในการผลิตวัคซีน เช่น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ บริษัทอื่นๆเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาไม่แพงเกินไป หากสามารถทำให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงครบถ้วนแล้วก็ควรมีแผนการผลิตเพื่อส่งออก “วัคซีนของไทย” ส่งไปขายหรือช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน แม้นไทยและทั่วโลกควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แล้ว การส่งเสริมอุตสาหกรรมยา วัคซีนและเทคโนโลยีชีวภาพต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ไวรัสโควิด-19 ได้มีการกลายพันธุ์ การพัฒนา การปรับเปลี่ยนสูตรของวัคซีนอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็น และต้องส่งเสริมให้บริษัทคนไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ในอนาคต
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบ PM2.5 จะส่งผลต่อคุณภาพและสุขภาพอนามัยของประชาชนและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคเหนืออย่างรุนแรง ขณะที่ภัยแล้งจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรมในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แม้เปิดประเทศได้ในไตรมาสสาม แต่ SMEs และธุรกิจในจังหวัดที่ถูก Lockdown ครั้งที่สองยังคงมีปัญหาทางการเงินและอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย จึงขอเสนอให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเพิ่มวงเงินสินเชื่อ Soft Loan (ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี) จาก 500 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน เป็น 1,500 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน เสนอให้เพิ่มสามเท่า และควรปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อ Soft Loan เพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
ทั้งนี้ ควรให้ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายสามารถยื่นขอ Soft Loan ได้มากกว่า 2 ครั้ง ส่วน SMEs โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องที่เป็นหนี้เสียและไม่สามารถชำระหนี้ ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเวลานี้แบกหนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท โดยคาดว่า หากอัตราการขยายทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่สามารถเปิดประเทศได้ในไตรมาสสาม NPL น่าจะทะลุระดับ 10-12% ของสินเชื่อรวม NPL ตนคาดว่าเฉพาะ NPL ของกลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว กลุ่มร้านอาหาร สถานบันเทิง กลุ่มธุรกิจจัดงาน Event กลุ่มผลิตเสื้อผ้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ อัญมณีเครื่องประดับ น่าจะพุ่งไปมากกว่า 20%-40% ได้
แม้ NPL มีสัดส่วนที่สูงแต่เชื่อว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังสามารถรับมือได้จากการที่ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยล่าสุดอยู่ที่ 20.1% และมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสีย (NPL Coverage Ratio) อยู่ในระดับ 149% คิดเป็นเม็ดเงินราว 2.3 แสนล้าน อย่างไรก็ตาม สภาวะที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นและต้องกันเงินสำรองมากขึ้นทำให้กำไรธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2563) ลดลงถึง 46-47% สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารที่เป็นหนี้เสียนั้น ขอเสนอให้ทำ Asset Warehousing และให้ระยะเวลาในการซื้อคืนสินทรัพย์ภายใน 5 ปี ส่วนราคาตีโอนทรัพย์สินนั้นให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปตกลงกันเองในราคาตลาด หากเจ้าของเดิมไม่อยู่ในสถาวะที่ชำระหนี้ได้เลย ก็ให้ธนาคารนำทรัพย์สินไปขายในตลาดได้ เพื่อให้บริษัทที่มีศักยภาพมาซื้อและไปลงทุนเพิ่มเติมเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ ควรให้มีการทำ Factoring เพื่อให้ SMEs สามารถเสริมสภาพคล่องตัวเองได้ หากเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถนำ “ใบแจ้งหนี้” เพื่อเรียกเก็บเงินหลังจากได้ส่งมอบสินค้าแล้วมาใช้เป็นเอกสารของสินเชื่อได้ และ ควรพัฒนาให้เป็น Digital Factoring ต่อไปในอนาคต
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอแนวทางรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกหลังยุคโควิด และปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นและแนวโน้มของธุรกิจเทรนด์ใหม่ ว่า ภายใต้ Next normal and New Normal ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยนั้น ภาคธุรกิจต้องยึดการทำธุรกิจด้วยแนวคิดรักษ์โลกและเน้นความยั่งยืน ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจพลังงานสะอาด รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด อาหารปลอดสารพิษ การเกษตรไร้สารเคมีจะได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การทำงานและการผลิตแบบใหม่ที่ลดการสัมผัสบุคคล การทำงานแบบวิถีใหม่ในลักษณะ Virtual office จะเติบโตอย่างมาก ระบบการเงินจะเคลื่อนตัวสู่ระบบการเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะเริ่มทะยอยนำมาใช้ในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2564-2565 การนำเอาเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology) มาทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน การชำระเงินทำให้การดำเนินธุรกรรมมีต้นทุนต่ำมากและลดบทบาทของตัวกลางอย่างธนาคารลงอย่างมาก
เทคโนโลยี Blockchain ยังจะเปิดกว้างให้ปัจเจกบุคคลสามารถพัฒนานวัตกรรมหรือต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่บนสกุลเงินดิจิทัลได้หลากหลายรูปแบบผ่าน Smart Contract รัฐต้องเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนในทุนมนุษย์เพื่อให้มีทักษะสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมใหม่
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า การเก็งกำไรใน Bitcoin จะก่อให้เกิดฟองสบู่และฟองสบู่นี้จะต้องแตกวันใดวันหนึ่งในอนาคต นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ Private Digital Currency ดังกล่าว ที่เข้าซื้อผิดเวลาและซื้อในราคาสูงจะเกิดความเสียหายมาก สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางต่างๆ รวมทั้ง Diem (Libra) ซึ่งเป็นลักษณะ Stablecoin จะมีปลอดภัยและมีความเสี่ยงจากความผันผวนน้อยกว่ามาก และทำหน้าที่หลักๆของเงินได้ดีกว่ามาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19