นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “มาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่ของรัฐบาล” จำนวน 1,087 คน สำรวจวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มาตรการที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด คือ การลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ร้อยละ 41.58
จุดเด่นของมาตรการเยียวยา คือ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 48.58 จุดด้อย คือ มีเงื่อนไขมากเกินไป เกิดความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 52.34 สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงในการออกมาตรการ คือ ต้องเยียวยาทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ร้อยละ 71.72 โดยภาพรวมค่อนข้องพอใจต่อการออกมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ ร้อยละ 50.60
เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องกับการออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ล่าช้า ใช้งานยุ่งยาก มีเงื่อนไขมาก เข้าไม่ถึงทุกกลุ่ม แต่ก็ยังเห็นถึงความพยายามและตั้งใจในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เงินงบประมาณในด้านอื่น ๆ แล้ว ผลงานในการบริหารและออกมาตรการเยียวยาในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นับเป็นผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว
ด้านผศ.ดร. ปรียนันท์ ประยูรศักดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในเรื่องมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่ของรัฐบาลนั้น พบว่า มาตรการที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนมากที่สุด 2 ลำดับแรกคือ การลดค่าไฟและค่าน้ำ ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าประชาชนต้องการความช่วยเหลือที่เข้าถึงทุกครัวเรือน การมีสิทธิ์ได้รับโดยไม่ต้องร้องขอ ไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อรอลุ้นว่าใครจะได้บ้าง ไม่ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเพื่อมาแก่งแย่งแข่งขัน
รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าการนำภาษีประชาชนมาใช้ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ยุ่งยาก ไม่มีเงื่อนไขเยอะ และรวดเร็วทันเวลา ซึ่งเป็นจุดด้อยที่ชัดเจนมากของมาตรการที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นถึงความพยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนและการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้แต่ก็ยังคงเกิดปัญหากับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น ทำให้เราเห็นภาพคุณตาคุณยายเดินเท้าจากบ้านมาต่อคิวเพื่อลงทะเบียนท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ผู้คนที่น้ำตาไหลเพราะเสียใจที่ไม่ได้รับเงินสดไปใช้จ่ายแต่กลับต้องรับเงินไว้ในเป๋าตังเพื่อซื้อของที่จำเป็นน้อยกว่าค่าเช่าบ้านที่จะต้องจ่าย รัฐบาลควรจะแบ่งเงินงบประมาณมาจัดทำฐานข้อมูลประชากรที่ดีเพื่อโอนความช่วยเหลือที่ตรงความต้องการให้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนแข่งขันใดๆ เลย เหมือนเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 64)
Tags: ปรียนันท์ ประยูรศักดิ์, ผลสำรวจ, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, มาตรการเยียวยา, สวนดุสิตโพล, โควิด-19