ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอีกกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (26 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐซึ่งปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี แต่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,932.37 จุด ลดลง 469.64 จุด หรือ -1.50%
- ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,811.15 จุด ลดลง 18.19 จุด หรือ -0.48%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,192.34 จุด เพิ่มขึ้น 72.91 จุด หรือ +0.56%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 1.8%, ดัชนี S&P500 ลดลง 2.5% และดัชนี Nasdaq ลดลง 4.9% แต่ทั้งเดือนก.พ.นั้น ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้นเกือบ 4%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้นราว 3.5% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้นราว 1.8%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงต่อเนื่องในวันศุกร์หลังจากดิ่งลงในการซื้อขายช่วงเช้าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังคงปิดตลาดปรับตัวขึ้นได้ในเดือนก.พ. เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ หุ้นแอปเปิล, แอมะซอน, ไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท ดีดตัวขึ้นในวันศุกร์ แต่ยังคงร่วงลงหนักที่สุดในสัปดาห์นี้ในรอบหลายเดือน เนื่องจากถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐปรับตัวลงสู่ 1.451% หลังพุ่งขึ้นแตะ 1.614% ในวันพฤหัสบดี โดยได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งอ่อนไหวอย่างมากกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการในอนาคตซึ่งจะได้รับผลกระทบเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น
หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดลบ โดยกลุ่มพลังงาน ลดลง 2.3% ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยี เพิ่มขึ้น 0.6%
หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลงด้วยในวันศุกร์ แต่หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ดีดตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม หุ้นเซลส์ฟอร์ซซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์ออนไลน์ ร่วงลง 6.43% หลังจากคาดการณ์ผลกำไรทั้งปีนี้ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ได้แก่ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 76.8 ในเดือนก.พ. จากระดับ 79.0 ในเดือนม.ค. แต่สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ดีดตัวขึ้น 1.5% ในเดือนม.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนม.ค.
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 2.4% ในเดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5% หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนธ.ค. และรายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 10% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนธ.ค. โดย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 64)
Tags: dowjones, Nasdaq, S&P500, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก