นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.ฎ.กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา สทนช.ต้องดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ตามที่ระบุคุณสมบัติไว้ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.64 หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จำนวน 6 คน ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน
โดย สทนช.จะดำเนินการประกาศเปิดรับการเสนอรายชื่อผู้มีความประสงค์เข้ารับการคัดเลือก ณ ที่ทำการ สทนช.ภาค 1-4 และทางเว็บไซต์ สทนช. ต่อจากนั้นจะดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละเขตลุ่มน้ำเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อผู้เข้ารับการคัดเลือกเพียงลุ่มน้ำละ 6 คน เมื่อได้รายชื่อผู้เข้ารับการคัดเลือกครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกที่ประธาน กนช.แต่งตั้ง มีเลขาธิการ สทนช.เป็นประธาน หน่วยงานตามที่กฎกระทรวงกำหนดอีก 9 คน ร่วมเป็นกรรมการ และมีข้าราชการของ สทนช.อีก 1 คน ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ จะจัดประชุมพิจารณาคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำจากบัญชีรายชื่อกรรมการลุ่มน้ำที่ได้รับการเสนอเข้ารับการคัดเลือกจากลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. ต่อไป ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.64
โดยในส่วนของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องเป็นผู้บริหารองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำนั้น จังหวัดละ 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 9 คน ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคพาณิชยกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ 4 คน
“พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชนจาก 25 ลุ่มน้ำหลัก เหลือ 22 ลุ่มน้ำหลัก โดยใช้หลักการพิจารณา ได้แก่ จุดออกของลุ่มน้ำ สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ วัฒนธรรม การแบ่งเขตการปกครอง การใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ควรอยู่ต่างภูมิภาค ทั้งนี้ การแบ่งลุ่มน้ำหลักใหม่ จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศดำเนินไปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถใช้ในการวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่งคงด้านทรัพยากรน้ำให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน”
นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับลุ่มน้ำหลักใหม่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ขณะที่โครงสร้างของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 9 คน กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน โดยมีเลขาธิการ สทนช. ปฏิบัติหน้าที่กรรมการและเลขานุการ และมีข้าราชการของ สทนช. ทำหน้าที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน 2 คน โดย กนช. มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในทุกมิติ อาทิ การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทฯ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี การพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ เป็นต้น
“หลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก และกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. แล้ว จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาในเชิงพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561”
นายสมเกียรติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 64)
Tags: ทรัพยากรน้ำ, สทนช., สมเกียรติ ประจำวงษ์, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ