ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งเป็นการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 ที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาปรับแก้ไขเกณฑ์การลงคะแนน ให้เป็นใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 500 เสียง จากสมาชิก 700 คน ในการลงมติวาระแรก และวาระสาม ทั้งนี้ กมธ.เสียงข้างน้อย และ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเพิ่มเสียงข้างมากพิเศษที่แสดงเจตนาทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไม่ได้
อย่างไรก็ตามหลังจากอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมงจึงมีการลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมากของที่ประชุมจำนวน 441 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ต่อ 178 งดออกเสียง 13 เสียง ทำให้มาตรา 256 กลับไปใช้ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระแรกที่ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภาหรือ 450 เสียง ในวาระแรกและวาระสาม และไม่มีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้มีกระบวนการตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญที่มิชอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนการพิจารณาวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ กมธ.เสนอให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่มี ส.ว.บางส่วน อาทิ นายสมชาย แสวงการ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ส.ร.ทั้ง 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเห็นว่าควรมี ส.ส.ร.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ มาร่วมเป็น ส.ส.ร.ตามร่างเดิมที่เสนอมา โดยขอตั้งข้อสังเกตว่า หากส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โอกาสที่นักกฎหมายจะมีโอกาสเข้ามาช่วยร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี สุดท้ายที่ประชุมได้มีมติให้แก้ไขตามที่ กมธ.เสียงมากเสนอ คือ ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้ง 200 คน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 395 ไม่เห็นด้วย 13 งดออกเสียง 165
หลังจากนั้นเป็นการพิจารณาว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ซึ่ง กมธ.ฯ กำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง พร้อมกำหนดหลักคำนวณ ให้เฉลี่ยจำนวนราษฎรทั้งประเทศปีสุดท้ายก่อนปีที่เลือกตั้ง ส.ส.ร.กับจำนวน ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน และถือจำนวนที่เฉลี่ยได้เท่ากับจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร.จำนวน 1 คน จากนั้นจึงนำคะแนนเฉลี่ยเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ร.แต่ละจังหวัดพึงมี กรณีที่จำนวนราษฎรในจังหวัดใดมีประชากรเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ให้ถือว่ามี ส.ส.ร.ได้ 1 คน
ทั้งนี้ในการอภิปรายมีความเห็นต่าง และต้องการแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งแบ่งเขตภายในจังหวัด, แบ่งเขตประเทศเป็น 200 เขต หรือใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภายังมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่สนับสนุนใช้การแบ่งเขตเลือกตั้ง กับให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่าการกลับไปใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซงการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. และหนีไม่พ้นการครอบงำของกลุ่มทหารที่มีอำนาจโดยการยึดอำนาจ
เมื่อสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแล้วเสร็จ กมธ.ชี้แจง โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก ย้ำว่า กมธ.เห็นร่วมกัน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่เกินไป และอาจมีปัญหาต่อการปฏิบัติ อาทิ พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่มีผู้สมัครจำนวนมากหลายพันคน นอกจากนั้นการจัดเวทีแนะนำตัว การปราศรัยเป็นเรื่องยาก ส่วนเขตเล็กอาจถูกครหา เพราะคล้ายกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้นักเลือกตั้งนำคนของตนเองเป็น ส.ส.ร.
จากนั้นเป็นการลงมติ เสียงข้างมาก 379 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ที่ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เห็นด้วย 237 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ทำให้ต้องถามมติต่อไปว่าจะใช้การแก้ไขแบบใด ระหว่างส่วนของการตัดออกทั้งมาตรา หรือแก้ไขให้ใช้การเลือกแบบแบ่งเขต โดยเสียงข้างมาก 395 เสียง เห็นด้วยกับระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อ 18 เสียง ทั้งนี้มีผู้งดออกเสียงมากถึง 232 เสียง
รายงานข่าว แจ้งว่า ประเด็นที่ที่ประชุมเห็นชอบและผ่านการพิจารณา ได้แก่ มาตราว่าด้วยการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่ง กมธ.ฯ ได้ปรับแก้ไขเนื้อหา
สำหรับสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวยังกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 15 วัน พร้อมกำหนดให้ กกต.จัดการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียม การออกเสียงลงคะแนนเลือก ส.ส.ร.ให้สิทธิประชาชนลงคะแนนเลือกหรือไม่ลงคะแนนเลือกผู้ใดก็ได้ ทั้งนี้ กมธ.ได้เพิ่มเนื้อหาให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม 529 เสียงเห็นชอบกับการแก้ไข ต่อ 51 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง
ขณะที่มาตราว่าด้วยการเริ่ม การสิ้นสุดของสมาชิกภาพ ส.ส.ร. และหลักเกณฑ์ว่าด้วยกรณีที่ ส.ส.ร.ว่างลงนั้น กมธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาในหลักการสำคัญ คือ กรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลง ให้จัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน ยกเว้นเวลาทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ถึง 90 วัน
หลังจากสมาชิกอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติ ผลปรากฎว่าเสียงข้างมาก 571 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไข ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ซึ่งไม่มีข้อห้ามให้ ส.ส.ร.เว้นวรรคทางการเมืองตามที่มีผู้เสนอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 64)
Tags: ประชุมสภา, รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, ส.ส.ร., แก้ไขรัฐธรรมนูญ