น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.64 ว่า เศรษฐกิจได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวแย่ลงในทุกหมวด โดยเป็นผลจากการระบาดระลอกใหมของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการบริโภคจากการระบาดระลอกใหม่ ยังไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดในรอบแรก ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยานยนต์ เป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยยังมีจำนวนไม่มาก แม้ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า
“คาดว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ประสิทธิผลของวัคซีน และการเปิดประเทศของแต่ละแห่งด้วย”
สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวแย่ลงในทุกองค์ประกอบย่อย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลง ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.5% โดยเป็นการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก
“การส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก ทิศทางการส่งออกจากนี้ น่าจะยังฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่โตต่อเนื่อง อาจจะดีกว่าที่คาดไว้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัว 6.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงขึ้นเป็น 11.1% ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 64)
Tags: การท่องเที่ยว, ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผลกระทบโควิด-19, ภาคธุรกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย